fbpx

ธปท. กับ 5 ภารกิจสำคัญ เพื่อการแก้ปัญหาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา นับเป็นครั้งแรกที่ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คนที่ 21 ได้พบปะกับสื่อมวลชนหลังจากเข้ารับตำแหน่ง และได้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาด้านเศรษฐกิจที่ประเทศกำลังเผชิญครั้งนี้ว่า มีความ “รุนแรง” มีแนวโน้มที่จะ “ยาวนาน” และมีความ “ไม่แน่นอนสูง” กว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ เพราะวิกฤติโควิด 19 ลุกลามไปทั่วโลกและยังไม่รู้ว่าจะจบลงเมื่อใด นอกจากนี้ ดร.เศรษฐพุฒิยังได้เล่าถึงแนวทางการแก้ปัญหาที่ต้องปรับเปลี่ยนตามบริบทที่เปลี่ยนไป ตลอดจนแนวทางการทำงานของ ธปท. ในช่วงเวลานับจากนี้ เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ

เศรษฐกิจฟื้นตัวแบบ ไม่เท่าเทียม – ใช้เวลานาน – ไม่แน่นอน

“วิกฤติโควิด 19 ครั้งนี้นับเป็น shock ที่รุนแรงมาก กระทบกับเศรษฐกิจทุกประเทศเต็ม ๆ”

ดร.เศรษฐพุฒิขยายความว่า สำหรับประเทศไทย ธุรกิจท่องเที่ยวเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด จากที่เคยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเฉลี่ยปีละ 40 ล้านคน ในปีนี้เหลือไม่ถึง 7 ล้านคน ซึ่งหมายถึงเงินที่จะหายไปจากระบบเศรษฐกิจสูงถึงประมาณร้อยละ 10 ของ GDP

ขณะที่มาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด 19 ยังทำให้การผลิตสินค้าหยุดชะงัก ส่งผลลบต่อการส่งออก ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นกับภาคการท่องเที่ยวและการส่งออก ทำให้เศรษฐกิจไทยต้องสะดุด และยังกระทบกับระดับการจ้างงานและรายได้ของคนไทย

“บริบทเดิม ตอนที่โควิด 19 เข้ามา ธปท. มองว่าผลกระทบจะหนักแต่เป็นช่วงสั้น ๆ หลายมาตรการทั้งฝั่งการเงินและการคลัง จึงเน้น ยาแรง และ ปูพรม เพราะวิกฤติมาแรงแบบไม่ทันตั้งตัวจะมาแยกแยะว่าใครได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหนคงลำบากและไม่ทันการณ์ มาถึงวันนี้บริบทเปลี่ยนไป เราพ้นช่วงล็อกดาวน์ ธุรกิจเริ่มฟื้นตัวแต่การฟื้นตัวเป็นแบบ ไม่เท่าเทียม ดังนั้น แนวทางการรักษา หรือวิธีแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจต่อจากนี้จึงต้องเปลี่ยนไป”

ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเป็นไปอย่างไม่เท่าเทียม โดยกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น ธุรกิจอาหารเครื่องดื่ม และเครื่องใช้ไฟฟ้า ฟื้นตัวกลับมาจนใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดโรคระบาด แต่บางกลุ่มอุตสาหกรรมยังน่าเป็นห่วงเพราะการฟื้นตัวค่อนข้างต่ำ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจโรงแรมที่ฟื้นกลับมาเพียงร้อยละ 28 เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด 19

“ไม่ใช่แค่การฟื้นตัวระหว่าง sector ที่มีความแตกต่างกัน แม้แต่ภายใน sector เดียวกันก็ยังฟื้นตัวต่างกันมาก เช่น โรงแรมในภูเก็ตที่พึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติ รายได้ยังหายไปมาก แต่โรงแรมในหัวหินหรือพัทยาฟื้นตัวกลับมาได้ดีกว่าที่อื่น ซึ่งการฟื้นตัวที่ไม่เท่าเทียมมีนัยต่อแนวทางการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ”

ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวถึงการเติบโตของเศรษฐกิจไทย โดยตัวเลขประมาณการ GDP ไทยปีนี้จะติดลบไปถึงไตรมาสแรกของปี 2564 ก่อนจะเริ่มเป็นบวกในไตรมาส 2 แต่กว่าที่ระดับ GDP จะกลับมาฟื้นตัวเท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิด 19 น่าจะเป็นไตรมาส 2 ของปี 2565 นั่นแปลว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจครั้งนี้ ต้องใช้เวลานาน

อีกลักษณะสำคัญของการฟื้นตัวในรอบนี้ คือ มีความไม่แน่นอนสูง ไม่มีใครตอบได้ว่า วัคซีนจะสำเร็จเมื่อไหร่ และเมื่อมีวัคซีนแล้วนักท่องเที่ยวจะกลับมาเที่ยวประเทศไทยเมื่อใด เศรษฐกิจโลกจะกลับสู่ระดับปกติก่อนช่วงโควิด 19 หรือไม่ คำถามที่ไม่มีคำตอบที่ชัดเจนก่อให้เกิดความไม่แน่นอน

“ความไม่แน่นอนเป็น ‘ตัวถ่วง’ ของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ เพราะทำให้หลายกิจกรรมที่ควรกลับมาได้กลับไม่เกิด เนื่องจากทุกคนเลือกที่จะรอสัญญาณความชัดเจน”

ตรงจุด – ยืดหยุ่น – ครบวงจร – ลดผลข้างเคียง

“จากเดิมที่แนวทางแก้ปัญหาเคยเป็นลักษณะ ‘ปูพรม’ และ ‘แช่แข็ง’ ซึ่งเหมาะกับช่วงล็อกดาวน์ที่ทุกกิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องหยุดชะงักลง แต่เมื่อบริบทเปลี่ยนไป โดยการฟื้นตัวไม่เท่าเทียม ใช้เวลานาน และไม่แน่นอน แนวทางการรักษาจึงต้องเปลี่ยนไป”

ดร.เศรษฐพุฒิย้ำว่า แนวทางการแก้ปัญหาจึงต้องเริ่มจากมุ่งแก้ปัญหาให้ “ตรงจุด” มากขึ้น โดยแบ่งระหว่างกลุ่มคนหรือกลุ่มธุรกิจที่ไม่ได้รับผลกระทบ ไปจนถึงกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมาก แล้วใช้มาตรการที่เหมาะสมกับแต่ละกลุ่ม

ขณะที่มาตรการต่าง ๆ ที่ออกมาต้อง “ยืดหยุ่น” เพื่อเตรียมรับกับสถานการณ์ในอนาคตที่มีความไม่แน่นอนสูง สามารถปรับเปลี่ยนเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ได้รวดเร็ว

นอกจากนี้ ต้องทำมาตรการแบบ “ครบวงจร” มากขึ้น เพราะปัญหาเศรษฐกิจรอบนี้ใช้เวลาค่อนข้างนาน ดังนั้น การแก้ไขจึงต้องคิดและทำแบบครบวงจร ควบคู่ไปกับความจำเป็นที่ต้อง คำนึงถึงผลข้างเคียง เพื่อไม่ให้การแก้ไขปัญหาในระยะสั้นส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัว
ทางเศรษฐกิจ และสร้างผลกระทบต่อความยั่งยืนในระยะยาว

ตัวอย่างเช่น มาตรการพักชำระหนี้ ซึ่งเป็นเครื่องมือที่จำเป็นในช่วงแรกของวิกฤติ แต่ไม่ใช่คำตอบที่ใช้แก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน เพราะหากใช้มาตรการนี้แบบเหมาเข่งไปเรื่อย ๆ จะก่อให้เกิดปัญหาวินัยทางการเงิน (moral hazard) ซึ่งเป็นอันตรายต่อระบบเศรษฐกิจไทยในระยะยาว และการพักชำระหนี้เป็นเวลานานยังทำให้กระแสเงินสดหายไปจากระบบสถาบันการเงิน ซึ่งส่งผลกระทบกับเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน

“ธปท. ต้องมองไปข้างหน้า เพราะกว่าเศรษฐกิจจะกลับมาโตเท่ากับก่อนโควิด 19 ต้องใช้เวลาอย่างน้อยอีก 2 ปี ผมจึงบอกให้ทีมคิดมาว่าใน 2 ปีข้างหน้า เราต้องเจอกับอะไรบ้าง ต้องมีเครื่องมืออะไรเพื่อเตรียมรองรับกับสิ่งที่จะเจอ และต้องเตรียมเครื่องมือให้ครบ”

ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า สิ่งที่ ธปท. ต้องทำต่อไปหลังจากนี้เพื่อเตรียมรองรับกับบริบททางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปคือ การปรับปรุงกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ให้ทำได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงการวางแนวทางจัดการสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) ที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นด้วย

“มาตรการพักชำระหนี้ เรายังทำอยู่ แต่มีการแยกแยะและปรับให้ตรงจุดมากขึ้น โดยแยกลูกหนี้ที่มีศักยภาพในการชำระหนี้ออกมา และสร้างแรงจูงใจในการชำระหนี้ ส่วนลูกหนี้ที่มีปัญหาชำระหนี้ไม่ได้ อาจต้องปรับโครงสร้างหนี้ โดยให้เงื่อนไขและเงื่อนเวลาต่างกันระหว่างกลุ่มที่มีปัญหากระแสเงินสดและกลุ่มที่ไม่มีปัญหา นี่คือตัวอย่างการทำมาตรการแบบตรงจุด ยืดหยุ่น ครบวงจร และลดแผลเป็นหรือผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นในระยะยาว”

“ความแข็งแกร่ง” 5 ประการที่จะช่วยให้ไทยผ่านวิกฤตินี้ไปได้

“ปัญหารอบนี้ทั้งหนัก ยาวนาน และมีความไม่แน่นอนสูงสิ่งที่ผมอยากให้กำลังใจก็คือ ปัญหาแก้ไขได้ เพียงแต่ต้องใช้เวลา เพราะไม่มียาวิเศษใดที่จะรักษาพิษเศรษฐกิจครั้งนี้ให้หายขาดได้ในเวลาอันสั้น”

ดร.เศรษฐพุฒิอธิบายถึง “ความแข็งแกร่ง” ของประเทศไทยที่จุดประกายความหวังในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ประการแรกคือ ความสำเร็จในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด 19 ของสาธารณสุขไทย ประการต่อมาคือ เสถียรภาพของระบบการเงินไทยที่อยู่ในเกณฑ์ดี โดยที่ผ่านมา ธปท. ได้ดูแลเพื่อสร้างความมั่นใจว่าระบบสถาบันการเงินมีสภาพคล่อง และอัตราเงินกองทุนขั้นต่ำ (BIS Ratio) ที่มากพอจะรองรับกับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน หรือ “shock” ได้

ความแข็งแกร่งอีกประการคือ ประเทศไทยมีเสถียรภาพด้านต่างประเทศ เนื่องจากมีหนี้ต่างประเทศอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง จึงสามารถรองรับ shock ที่เกิดจากตลาดการเงินได้ดี นอกจากนี้ ความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจไทยยังมาจากระดับหนี้สาธารณะที่อยู่ในระดับต่ำ จึงมีพื้นที่ให้รัฐบาลสามารถใช้มาตรการด้านการคลังเพื่อแก้ไขปัญหาได้หลากหลาย ซึ่งต่างจากอีกหลายประเทศ

สำหรับความแข็งแกร่งประการสุดท้าย ได้แก่ ความยืดหยุ่นของตลาดแรงงานไทย ผู้ว่าการ ธปท. ยอมรับว่า จุดแข็งของเศรษฐกิจไทยข้อนี้อาจเป็นภาพที่หลายคนมองเห็นไม่ชัดนัก กล่าวคือ ตลาดแรงงานในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนัก เมื่อถูกเลิกจ้าง หลายคนหันไปทำอาชีพอื่นหรือกลับไปทำภาคเกษตร จึงทำให้การจ้างงานนอกภาคเกษตรในเวลานี้ ฟื้นกลับขึ้นมาค่อนข้างดีหลังจากที่เคยตกลงไปในช่วงล็อกดาวน์ อัตราการว่างงานของไทยจึงไม่สูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น

“ปัญหาของบ้านเราไม่ใช่การตกงานหรือว่างงาน แต่ปัญหาคือแรงงานถูกลดชั่วโมงทำงาน หรือปริมาณงานมีน้อยลงกว่าเดิม ส่งผลให้รายได้ของบุคคลและของครัวเรือนหายไป ดังนั้น โจทย์สำคัญจึงอยู่ที่การดูแลเรื่องจำนวนชั่วโมงทำงาน และการหาแนวทางเพิ่มรายได้ให้บุคคลและครัวเรือน”

5 โจทย์ใหญ่ของ ธปท. เพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน
“การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจภายใต้บริบทที่เปลี่ยนไป ทำให้ ธปท. ต้องปรับตัว ปรับแผน และจัดองคาพยพใหม่ ด้วยบริบทตอนนี้เราจำเป็นต้องมุ่งตอบโจทย์ใหญ่ 5 โจทย์ เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่หลุด ‘โฟกัส’ ไป”

ภารกิจแรก ได้แก่ การแก้วิกฤติหนี้อย่างยั่งยืน โดยโจทย์สำคัญคือ การนำพาประเทศชาติ ประชาชน และภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ SMEs ไทย ให้ผ่านพ้นวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้ไปได้โดยเกิดผลข้างเคียงน้อยที่สุด

ภารกิจที่ 2 คือ การรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน โดย ธปท. มีหน้าที่กำกับดูแลสถาบันการเงินให้มีความเข้มแข็ง มีสภาพคล่องและเงินทุนสำรองในระดับที่มั่นใจได้ว่า สถาบันการเงินจะดำเนินธุรกิจพร้อมทั้งทำหน้าที่หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวและเดินหน้าต่อไปได้

ภารกิจที่ 3 คือ การรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจมหภาค ซึ่ง ธปท. เป็นหนึ่งในหน่วยงานสำคัญของประเทศที่มีบทบาทสำคัญ ทั้งทางตรงและทางอ้อมในการขับเคลื่อนให้เกิดการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย โดยโจทย์ของ ธปท. คือ ต้องทำให้มั่นใจได้ว่า โครงสร้างเศรษฐกิจไทยจะสามารถรองรับ “ความปกติใหม่ (new normal)” หลังวิกฤติโควิด 19 และมีเสถียรภาพมากพอที่จะรองรับกับความผันผวนในตลาดการเงินต่าง ๆ ได้

“จริง ๆ แล้ว ภารกิจ 3 ข้อนี้ ถือเป็นพันธกิจหลักของแบงก์ชาติในการดูแลภาพรวมของเศรษฐกิจไทยอยู่แล้ว เพียงแต่ช่วงเวลานี้ ความเข้มข้นจะเน้นหนักอยู่ที่การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ แต่การจะบรรลุ 3 ภารกิจนี้ได้ ธปท. จำเป็นต้องทำภารกิจข้อที่ 4 และข้อที่ 5 ด้วย เพื่อที่จะนำไปสู่เป้าหมายสูงสุดคือ การฟื้นตัวอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจไทย”

ภารกิจที่ 4 ได้แก่ การสร้างความเชื่อมั่นของสาธารณชนที่มีต่อ ธปท. ให้ไปสู่ระดับที่เรียกว่า “เป็นหนึ่งในองค์กรที่ประชาชนเชื่อมั่นที่สุด” โดยโจทย์สำคัญคือ การทำให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มเข้าใจและเชื่อมั่นว่า ทุกการตัดสินใจและทุกนโยบายของ ธปท. มาจากการคำนึงถึงผลประโยชน์ของส่วนรวม

“ทำไมภารกิจนี้ถึงสำคัญ เพราะโดยธรรมชาติ งานที่ ธปท. ทำจะมีทั้งผู้ได้ประโยชน์และผู้ที่เสียประโยชน์ จึงเป็นปกติที่อาจจะมีคนไม่ถูกใจ แล้วอาจเกิดการตั้งคำถามว่าเชื่อถือได้หรือไม่ ดังนั้นเราจึงต้องสื่อสารชี้แจงให้ทุกฝ่ายเข้าใจ โดยเฉพาะฝั่งที่เสียผลประโยชน์ ว่าสิ่งที่ทำเป็นแนวทางที่เหมาะสมสำหรับส่วนรวมที่สุดแล้ว”

ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า เพื่อให้บรรลุภารกิจที่ 4 ดังกล่าว ธปท.จำเป็นต้องมีกระบวนการทำงานใหม่ที่มีนิยามว่า “คิดรอบ ตอบได้ ร่วมใจมุ่งมั่น” โดยหมายรวมถึง การคิดให้รอบ การคิดให้ครบ และการช่วยกันคิด ซึ่งจำเป็นต้องปรับรูปแบบการทำงานให้เป็นทีมที่ข้ามสายงานกันมากขึ้น เพื่อนำไปสู่แนวทางการแก้ปัญหาแบบ “ยืดหยุ่น” “ครบวงจร” และ “ตอบได้” ว่าผลลัพธ์ของกระบวนการ “คิดรอบ” นั้น มาได้อย่างไรและเพราะอะไร

สำหรับภารกิจสุดท้ายที่จะขับเคลื่อน ธปท. ไปสู่การบรรลุภารกิจสำคัญ 3 ประการแรก เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน คือการสร้างประสิทธิภาพการดำเนินงานเพื่อ “เป็นองค์กรมุ่งผลสัมฤทธิ์” โดยมุ่งเน้นการลดความซ้ำซ้อนและการแบ่งแยกการทำงาน (silo) เพราะการแก้ปัญหามีความคาบเกี่ยวข้ามสายงานกัน รวมถึงการเปิดโอกาสให้พนักงาน ธปท. โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ได้เติบโตตามศักยภาพของตนได้อย่างที่ควรจะเป็น

“ธปท. มีคนเก่งเยอะมาก และทุกคนก็ทุ่มเทกันมาก แต่ด้วยหน้างานแต่ละส่วนที่แคบ และการทำงานมีหลายระดับ จึงไม่เกิดความคล่องตัว ผมต้องการ ‘ปลดล็อก’ พลังของคน ธปท. เพื่อที่เราจะได้นำพลังนี้มาช่วยกันแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และตอบโจทย์ความท้าทายตามความคาดหวังของสังคม ซึ่งพวกเราต่างก็ทราบดีว่า เราถูกคาดหวังสูงมากจากประชาชน โดยเฉพาะในยามหัวเลี้ยวหัวต่อของประเทศเช่นนี้”

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ