fbpx

ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล

OUT OF THE LIME-LIGHT

มองชีวิต มองการเมือง ในวันที่ลงจากเวที

กว่าปีมาแล้ว ที่ ดร. สมเกียรติ อ่อนวิมล หลีกเร้นมาใช้ชีวิตสงบๆ ที่บ้านพักในอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา

อยู่ที่นี่เขาเข้านอนประมาณ 3 ทุ่ม ตื่นราวตีสี่ ชงกาแฟ แล้วออกมาเดินบนถนนหน้าบ้าน มองดูฟ้า ดูดาว สูดอากาศบริสุทธิ์ ก่อนเตรียมตัวพูดออกอากาศรายการวิทยุ ซึ่งในตอนนี้ เขาถือว่ามันเป็นงานอดิเรก ในแต่ละสัปดาห์ เขาจะเข้ากรุงเทพฯ เพื่อบันทึกเทปรายการทีวี หรือทำกิจธุระอย่างอื่น 1-2 วัน ซึ่งนี่ก็ถือว่าเป็นงานอดิเรกอีกเช่นกัน พอเสร็จแล้วก็บึ่งรถกลับปากช่อง

ช่วงที่เข้ามาอยู่ยาวหน่อย ก็คือปลายปีที่แล้ว ที่มีการ ‘ปิดกรุงเทพฯ’ ของกลุ่ม กปปส. และเขาก็ขึ้นเวทีปราศรัยไปสิบกว่าครั้ง เรียกเสียงฮือฮาจากชนชั้นกลางในเมืองได้ล้นหลาม

“เคยมีคนมาถามว่า การเดินทางครั้งไหน ที่เปลี่ยนแปลงชีวิต มากที่สุด ผมตอบว่า มันคือการเดิน จากคณะนิเทศฯ ไปที่คณะอักษรฯ เพราะสำหรับผม มันเปลี่ยนแปลงชีวิตเลย คือผมเห็นว่ามีวิชา ที่ผมอยากรู้แต่อยู่อีกคณะ “

“นี่เป็นครั้งแรกที่มีคนมาเยี่ยมผมที่นี่ คิดว่าโลกน่าจะลืมคนแก่อย่างผม ไปได้แล้ว แต่คุณก็ยังอุตส่าห์มากัน” เขากล่าวทักทาย GM ด้วยรอยยิ้ม

เขาพาเยี่ยมชมห้องหับรอบตัวบ้าน ที่ดูสงบเงียบแต่ก็อบอุ่น แล้วก็อวดห้องสมุดส่วนตัวที่เขาภูมิใจที่สุด ซึ่งมีหนังสืออยู่กว่า 6,000 เล่ม ส่วนใหญ่เดี๋ยวนี้เขาสั่งซื้อจากแอมะซอน เราเดินเลียบเลาะไปตาม

ชั้นวางอย่างเป็นหมวดหมู่ ไล่เรียงไปตั้งแต่ศาสนา ปรัชญา ดาราศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ วรรณกรรมคลาสสิก A-Z และหมวดหมู่ที่ขาดไม่ได้เลย คือ การเมืองไทยและสื่อสารมวลชน  

เขาบอกว่าคนไทยขาดหนังสือคลาสสิก ที่ยังไม่ค่อยมีคนแปล และเขาอยากจะใช้เวลาในบั้นปลาย ถ้าไม่มีใครมาจ้างเขาไปทำงานอะไรอีกแล้ว มานั่งแปลหนังสือให้คนไทยได้อ่านกัน งานหลายเล่มของ ชาร์ลส์ ดาร์วิน และหนังสือ Democracy in America ของ Alexis de Tocqueville คือเป้าหมายแรกๆ ถ้าจะตายภายใน 10 ปีนี้ ขอให้แปลสัก 3-4 เล่มนี้ได้จบ ก็โอเค

ตลอดการพูดคุย เขามักจะชอบพูดว่า ‘ปูนนี้แล้ว’ แต่จริงๆ แล้ว เขาเป็นหนุ่มใหญ่วัย 66 ที่เดินเหินกระฉับกระเฉง เพราะออกกำลังกายเป็นประจำ ยังไม่นับบาร์เบลอันใหญ่ที่วางอยู่ไม่ไกลจากโต๊ะทำงาน และการซิทอัพวันละ 500 ครั้ง

“500 ครั้ง!” GM ได้ยินแล้วก็งง “ไม่ใช่รวดเดียว ก็เล่นเป็นยกๆ ผมพยายามทำให้ได้วันละ 500 ครั้ง”

เขาพาเราไปนั่งที่โต๊ะไม้บริเวณใต้ถุนบ้าน “นี่คือที่ซิทอัพของผม ผมนอนบนโต๊ะ แล้วสอดขาเข้าไปที่พนักเก้าอี้ แล้วก็เริ่มนับไป”โต๊ะที่เรานั่งมีผิวเรียบเป็นมันปลาบ ฉายชัดว่ามันกรำศึกมาหนักแค่ไหน และดูเหมือนกับเขาฟิตร่างกายให้พร้อม เพื่อเฝ้ารอเวลาและเฝ้ารอภารกิจสำคัญบางอย่าง

เรานั่งคุยกันที่ใต้ถุนบ้าน ลมพัดเอื่อย แสงแดดอ่อน แต่ประเด็นกลับร้อนแรง นับตั้งแต่เขาลงจากเวทีมาจนถึงวันนี้ สถานการณ์เปลี่ยนไปเยอะ เขาเงียบหายไปพักใหญ่ ก่อนที่จะกลับมาเคลื่อนไหวอีกครั้งทางโซเชียลมีเดียส่วนตัว ด้วยท่าทีวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลภายใต้ คสช.

ช่วงนี้ อดีตแฟนๆ กปปส. หลายคนเซ็งเขา ในขณะที่ อดีตคนที่เคยเซ็งพวก กปปส. ก็งงกับเขาเหมือนกัน

ในวันที่ลงจากทุกเวที เราร่วมกันใช้เวลายามบ่ายของเดือนตุลาคมที่ปากช่อง กับบรรยากาศรอยต่อของฤดูกาล ที่เปรียบไปก็เหมือนช่วงเปลี่ยนผ่านประวัติศาสตร์ของประเทศพ้นจากแสงสปอตไลท์สาดส่อง พ้นจากเสียงโห่ร้องของกองเชียร์ พ้นจากหัวโขนของตำแหน่งต่างๆ และพ้นจากงานประจำเขาบอกเล่าบทเรียนในชีวิต ทีละประเด็น ทีละคำถาม ทีละยุคสมัย ตั้งแต่การเมืองไปจนถึงปรัชญาชีวิต ทุกๆ สิ่งที่คนหนุ่มอย่างเราควรรู้

GM: เวลาผ่านมาหนึ่งปี ตั้งแต่การเริ่มต้นเคลื่อนไหวของ กปปส. อาจารย์มีความผิดหวังหรือว่าเสียใจกับสิ่งที่ได้ทำไปแค่ไหน

ดร. สมเกียรติ : ไม่เสียใจหรอก ผมไม่ได้ผิดหวังกับเหตุการณ์ในช่วงนั้น ผมพอใจด้วยซ้ำที่ช่วงนั้นได้มีโอกาสทำอะไรอย่างที่คุณเห็น ก็คือได้ไปขึ้นเวที และได้พูด 10 กว่าครั้ง นั่นคือผมได้นั่งคิด ได้เสนอความคิด ได้อ่าน ได้ทบทวนอย่างรอบคอบ ทุกประโยคทุกคำที่ผมค้นคว้าแล้วก็เรียบเรียง ทุกครั้งที่จะขึ้นเวที ผมเตรียมตัวประมาณอาทิตย์หนึ่ง เป็นสิ่งที่ผมตั้งใจทำ แต่มันก็ไม่ใช่งานที่ยิ่งใหญ่อะไรนักหรอกนะ คือผมไม่ได้เป็นพวก กปปส. ไม่ได้ไปร่วมประชุมเพื่อวางยุทธศาสตร์อะไรกับเขา แค่พอถึงเวลา ผมก็ขึ้นเวทีไป วันนี้เริ่มกี่โมง เสร็จแล้วก็กลับ แต่ก็นับเป็นงานที่ตื่นเต้นสำหรับผม แล้วผมก็ทำไปเท่าที่จะทำได้ เพราะลักษณะอย่างผมนี่ไม่ใช่ผู้นำมวลชน ไม่ใช่นักการเมือง และไม่ได้มีความประสงค์ที่จะไปมีอนาคตทางการเมือง ก็แค่คิดอะไร แล้วมีเวทีให้แสดงความคิด แล้วก็จบ กลับบ้านมา ผมทำแค่นั้น

GM: ถ้าย้อนกลับไปได้ ยังจะขึ้นเวทีหรือเปล่า

ดร. สมเกียรติ : แหม! คุณถามแบบนี้ในวันนี้ ผมก็ต้องตอบว่าขึ้นอยู่แล้ว ใครจะอยากตอบว่างั้นผมไม่ขึ้นดีกว่า คงไม่มีใครกล้าตอบแบบนั้น เพราะมันแสดงว่าเราได้ตัดสินใจผิดพลาดไป ซึ่งผมไม่ได้ตัดสินใจผิดพลาด เพราะว่าในวันนี้ ไม่ได้มีผลกระทบที่ทำให้ผมรู้สึกเสียใจว่าไปขึ้นทำไม ผมขึ้นเวทีไป 13 ครั้ง ส่วนใหญ่ผู้คนก็พอใจ แม้กระทั่งจนถึงทุกวันนี้ แสดงว่ามันเป็นผลบวกในเชิงการสื่อสารมากกว่า ไม่มีอะไรทำให้คิดใหม่ว่าไม่ควรทำ แต่จะว่าไป มีคนด่ากลับมาตรึมเหมือนกัน ก็คือกลุ่มเสื้อแดงนั่นแหละ แต่นั่นไม่ได้ทำให้ผมเสียใจ กลับแสดงว่าผมทำงานได้ผล การที่เขาด่ากลับมา โดยไม่มีข้อความใดๆ ที่สามารถปฏิเสธสิ่งที่ผมพูด ก็ยิ่งทำให้รู้ว่าเขาไม่มีเหตุผลจะต่อสู้กับผม คือไม่มีใครคัดค้านสิ่งที่ผมพูด อาจจะด่าว่าอาจารย์ขึ้นไปพูดทำไม คนอย่างอาจารย์อยู่เฉยๆ เถอะ จะเป็นอย่างนั้นมากกว่า

กปปส. คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (People’s Democratic Reform Committee-PDRC) นัดชุมนุมใหญ่ครั้งแรก ที่สถานีรถไฟสามเสน วันที่ 31 ตุลาคม 2556 แล้วหลังจากนั้นก็กระจายไปตามจุดต่างๆ ดร. สมเกียรติ อ่อนวิมล ขึ้นปราศรัยครั้งแรกที่เวทีแยกอโศก วันที่ 23 มกราคม 2557

GM: วันที่อาจารย์ขึ้นเวที มันเหมือนกับเป็นจุดพลิกผันของ กปปส. ที่ปลุกเร้ากระแสต่อต้านรัฐบาลสมัยนั้น แต่จนถึงวันนี้ ดูเหมือนว่ามันก็ไม่ได้นำไปสู่การแก้ไขปัญหาอะไรเลย

ดร. สมเกียรติ : คนเขาก็จะพูดอย่างนั้นกัน แต่ผมไม่ได้คิดว่ามันยิ่งใหญ่อะไร อย่างที่บอกว่าเราก็ทำหน้าที่ของเรา แต่ที่คุณบอกว่ามันไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขอะไรอย่างแท้จริง ผมก็เห็นด้วย จะเรียกว่ามันเป็นทฤษฎีก็ได้ ประวัติศาสตร์ความขัดแย้งของมนุษย์ เราต้องขัดแย้งให้ถึงที่สุด บางทีอาจต้องเกิดสงครามกลางเมือง ประเทศไทยเราไปไม่เคยสุด ไม่เคยเกิดสงครามกลางเมือง เพราะสถานการณ์ยังไม่ถึง เราเกิดจากความคิดที่แตกต่างกัน แต่ผมคิดว่ามันเป็นแค่ระดับของความชอบหรือไม่ชอบพวกคุณทักษิณ ซึ่งไม่ใช่ในระดับอุดมคติ คือไม่มีปรัชญาการเมืองอยู่เลย ทะเลาะกันเพราะว่ากลุ่มคน ไม่ใช่เรื่องปรัชญา ไม่เหมือนเรื่องเหนือใต้ เลิกทาสไม่เลิกทาส หรือสงครามกลางเมืองในฝรั่งเศสที่จะล้มหรือไม่ล้มสถาบัน เพราะฉะนั้นการต่อสู้ของเราจึงเล็กนิดเดียว และยังไม่ทันถึงความสูญเสีย ก็ถูกหยุด

เพราะว่าพวกทหารชอบมาทำให้หยุด ผมเชื่อตามหลักทฤษฎี แล้วก็อ่านประวัติศาสตร์มาเยอะ ฝรั่งเศส อเมริกา และโลกที่เขาทะเลาะกัน เขาทะเลาะกันจนล้มตาย

GM: แต่คนที่ตายก็เป็นคนเล็กคนน้อยอยู่ดี ไม่ใช่ผู้ที่ขึ้นไปพูดบนเวทีอย่างอาจารย์

ดร. สมเกียรติ : จริงๆ ตัวผู้นำนั่นแหละที่ต้องบาดเจ็บ ต้องล้มตาย คือไม่ใช่ตั้งใจให้ตายนะ แต่ว่าจะต้องยอมตาย และต้องออกไปสู้ คือสู้กันด้วยอุดมการณ์ แต่เท่าที่เห็นๆ กันก็คืออุดมการณ์ของเราหลวมๆ ทุกประเทศที่ผ่านสงครามกลางเมือง เมื่อถึงจุดที่คนสองกลุ่มมีอุดมการณ์ที่แตกต่างกันอย่างไม่มีทางลงเอย ก็ตีกันเป็นสงครามกลางเมือง ไม่ใช่เป็นการจลาจล ไม่ใช่การแอบลอบทำร้ายกัน อันนี้ไม่ใช่ สมมุติว่าเป็นพวกเหลืองกับแดง ก็ต้องถึงขนาดแยกประเทศ แต่ผมไม่ได้ดีใจนะ เวลาเขาบอกว่าจะมีประเทศล้านนา หรืออีสานเหนือ หรืออะไรก็แล้วแต่ แต่ผมคิดว่า เออๆ ประวัติศาสตร์กำลังจะมาถึงแล้ว เราจะสู้กันแล้ว ซึ่งจริงๆ แล้วก็ไม่ใช่ไง เป็นแค่การเล่นคำ มีแต่ขึ้นป้ายแล้วทำเป็นเท่ไปงั้น จริงๆ แล้วเป็นแค่ลูกเล่น ไม่ใช่ของแท้ ถ้าของแท้ มันก็จะจบลงสองอย่าง คือแยกก็แยก ถ้าไม่แยก ก็ผนึกกำลังกันไปยาวเลย เป็นเหมือนสหรัฐอเมริกาหรือว่าเยอรมนี ถ้ามีจริง แปลว่าเขาเริ่มคิดแล้วว่าประเทศนี้จะอยู่ร่วมกันไม่ได้ เพราะว่าวัฒนธรรมต่างกัน อุดมการณ์ทางการเมืองต่างกัน แต่จริงๆ แล้วปัญหาคือเจ้านายต่างกันเท่านั้นเอง ไม่เคยมีอุดมการณ์ วัฒนธรรม หรือปรัชญารัฐศาสตร์ภาคเหนือ ไม่เห็นเขาสู้อะไรเลย เขาก็ใช้มวลชน แล้วเขาก็ช้อปปิ้ง ทุกวันนี้จะเขียน จะต่อสู้ จะนำมวลชนก็ไม่มี จะแยกดินแดนก็ไม่มี สรุปแล้วก็คือเราไม่ได้มีอุดมการณ์ต่างกันถึงขนาดจะแยกประเทศ

GM: แล้วสุดท้ายมันจะไปถึงไหน

ดร. สมเกียรติ : คุณถามอย่างกับว่าผมมีทางออกให้กับประเทศ ผมก็แค่คนแก่ๆ คนหนึ่ง แต่ว่าถ้าพูดแบบไม่รับผิดชอบ ผมคิดว่าเดี๋ยวเราก็กลับมาทะเลาะกันอีก วัฏจักรเดิมจะกลับมา อาจจะเป็นรุ่นลูกของเราก็ได้ เพราะว่ากลุ่มอำนาจต่างๆ ที่เวียนกันเข้ามาใช้อำนาจ ไม่มีใครเด็ดขาดกล้าหาญที่จะแนะนำอะไรใหม่ๆ ให้กับประเทศไทยเลย รัฐบาลของทหารกลุ่มนี้ก็อยู่ไป ผมว่าประมาณ 1-2 ปี คนก็เริ่มจะรำคาญแล้ว เพราะฉะนั้น เขาจะต้องรีบทำโครงสร้างใหม่ มีรัฐธรรมนูญใหม่ แล้วก็ให้เลือกตั้งไป ถ้าไม่มีอะไรหวือหวาเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม คือไม่พลิกโฉมไปเลย ซึ่งผมคิดว่าก็คงแค่นี้แหละ แล้วเราก็จะกลับไปวัฏจักรเดิม คนสองกลุ่มนั้นก็จะกลับมาใหม่ จนกว่าเราจะมีอุดมการณ์อย่างแท้จริง จนมองเห็นอนาคตว่าจะได้แตกหักเสียที แต่ถ้าไม่มี เราก็จะอยู่กันแบบคาราคาซัง ทุกข์ระทมกันไปแบบนี้ ถ้าเป็นอย่างนี้ ก็ต้องปรับโครงสร้างทางการเมืองใหม่ให้ชัดเจน ผมอาจจะลองเสนออะไรที่พลิกโฉม แต่เขาจะรับฟังผมหรือเปล่าไม่รู้นะ ผมคิดว่ามันต้องพลิกโฉมเพื่อให้คนถกเถียงกันให้มากขึ้น จะได้สะเด็ดน้ำ ถ้าไม่งั้นก็อยู่กันไป เราก็จะเป็นประเทศที่เจริญช้า ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม แล้วเราก็จะมีข้ออ้างเสมอว่าทำไมจึงไปช้า ข้ออ้างเพื่อให้อยู่กันไปอย่างนี้

GM: ถ้าเขาร่างรัฐธรรมนูญกันเสร็จแล้ว มีเลือกตั้งคราวต่อไป อาจารย์ก็น่าจะลงในนามพรรคประชาธิปัตย์

ดร. สมเกียรติ : ผมจะไปลงได้ไง ผมไม่ชอบพรรคประชาธิปัตย์เอามากๆ เลยนะ ผมคุ้นเคยกับคนในพรรคประชาธิปัตย์บ้าง รวมทั้งอาจารย์อภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ แต่ผมไม่ไปลงสมัครอะไรอยู่แล้ว ผมพูดไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง ก็ไม่มีใครเชื่อ ผมเป็นคนแก่อยู่กับบ้าน นั่งวิพากษ์วิจารณ์ตามสิทธิเสรีภาพ โลกนี้เป็นโลกของคนรุ่นใหม่ไปแล้ว พวกคุณก็ต้องรับเอามันไป แต่นี่ผมว่าจะเขียนวิธีคิดในรัฐธรรมนูญใหม่ ผมจะดูว่าเขาจะเสนออะไรกัน ผมก็จะเสนอบ้าง มีโครงสร้างการเมือง สภา การเลือกตั้ง หรือโครงสร้างหลักของการปฏิรูปการเมือง ก็จะเสนอแนวคิดเท่านั้นเอง แต่ว่าผมจะไม่ไปเล่นการเมืองอะไรกับใครที่ไหน

ผมไม่ใช่นักการเมือง แล้วพวกคุณก็ไม่ต้องมาเย้ยหยันผมว่าดีแต่พูดนะ เพราะผมมีหน้าที่พูด ผมตั้งใจว่าจะเอาแค่นี้แหละ ดีแต่พูด ถ้าพูดดีก็โอเค (หัวเราะ) ที่ผมไปเป็นสมาชิกสภาบางช่วง เพราะว่าผมอยากทำบางเรื่อง ไม่ใช่อยากเป็นนักการเมือง อย่างเช่นเป็น ส.ส.ร. เพราะอยากร่างรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับสื่อมวลชน ก็ร่างแล้ว ไปเป็น ส.ว. เพราะว่าจะทำกฎหมายเกี่ยวกับเรื่อง กสทช. ก็ได้ทำ เป็น สนช. ปี ’50 นั่นไม่รู้ตัว เพราะอยู่ๆ เขาก็ประกาศว่าให้ผมเป็น ส่วน สนช. ชุดปัจจุบัน เขาไม่ได้ตั้งผม ผมก็ไม่ได้ไปขออะไร มีคนมาขอชื่อผมเป็นตัวแทนองค์กรทางวัฒนธรรมไปสมัครเป็น สปช. เพราะตามประวัติผมเป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม ได้รางวัลจากกระทรวงวัฒนธรรม ผมก็บอกไม่เอาๆ ผมอยากจะอยู่ของผมอย่างนี้

• สภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2539 (ส.ส.ร.) เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาล นายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรี ขณะนั้นมีการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเมือง แก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีความเป็นประชาธิปไตย

• วุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 เป็นครั้งแรกที่ได้มาจากการเลือกตั้ง ส.ว. โดยตรง เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2543

• สภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2549 (สนช.) สมาชิกได้รับการคัดสรรโดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.)

GM: ทำไมตอนปี 2550 โอเค แต่ตอนนี้ไม่

ดร. สมเกียรติ : ตอน 50 ไม่รู้ตัวมาก่อน เขาประกาศทางวิทยุ ตอนนั้นผมทำงานอยู่ช่อง 3 กับลูกน้อง นั่งฟังวิทยุ เขายึดอำนาจ ทหารก็มาอยู่ที่นั่น 2-3 คน แล้วก็ประกาศรายชื่อ ผมก็นั่งฟังเพื่อจะรอทำข่าว อ้าว! มีชื่อเราด้วย ถ้านึกย้อนไปตอนนั้น ก็คิดว่าได้เป็นก็ดีเหมือนกัน เราจะได้เข้าไปทำอะไรบางอย่าง การได้เข้าไปในสภาแบบที่เราไม่ได้ไปขอ แต่อยู่ๆ เขาตั้ง แบบนั้นเราก็มีอิสระ เข้าไปถึงปุ๊บก็ค้านหลายเรื่อง แต่ถ้าเราเข้าไปแบบที่ไปขอ ไปคุยอะไรก่อน หรือเราไปวิ่งเต้นขอให้เราเป็น แบบนั้นมันหมดแล้ว คุณก็ไปแค่รอยกมือเฉยๆ ฉะนั้นอย่างตอนนี้ ผมก็รอให้เขาตั้งอะไรๆ ให้เสร็จ จะได้อยู่อย่างอิสระที่จะวิจารณ์ อย่างนี้ผมสบาย วิจารณ์อะไรก็ได้ เพราะไม่มีความผูกโยงอะไรกับใครทั้งสิ้น ผมก็บอกกับตัวเองว่าจะไม่วิจารณ์จนกว่าเขาจะตั้งสภาทุกอย่างเสร็จ พอเสร็จก็จะเริ่มวิจารณ์ล่ะนะ ผมจะไปกลัวอะไรกับเรื่องถูกจับติดคุก หรือเรียกไปคุย ตอนนี้อายุ 66 แล้ว เขาจะจับก็ไม่เป็นไร ติดคุกผมก็กินข้าวฟรี (หัวเราะ) มีพวกคนที่เหม็นหน้าผม ก็จะมาบอกว่า แหม! หมู่นี้ผิดหวัง กับอาจารย์ เมื่อก่อนเคยชอบ เดี๋ยวนี้รู้สึกว่าจะเริ่มเล่นรัฐบาลเยอะไปแล้ว

GM: เขาชอบอาจารย์ เพราะเขาคิดว่าอาจารย์เป็นพวกที่สนับสนุนให้ปฏิวัติรัฐประหาร

ดร. สมเกียรติ : (หัวเราะ) ถ้านิยามว่าผมเป็นบุคคลสาธารณะ คนอื่นที่เขามองผม เขาก็เห็นเท่าที่เห็น คือมองจากข่าวสาร อย่างพวกคนรุ่นเก่าๆ เคยดูข่าวของแปซิฟิคฯ แล้วติดใจ หรือพวกคนรุ่นใหม่ที่มาฟังการปราศรัยแล้วประทับใจ ก็นึกว่าผมจะดีไปหมด หารู้ไม่ว่านั่นเป็นเพียงแค่การแสดงออกทางความคิดเห็นในเชิงวิชาการ แล้วพอถึงตอนนี้ เมื่อผมพูดอะไรไม่ถูกใจเขา เขาก็จะผิดหวัง ซึ่งมันไม่ได้นะครับ ผมไม่ได้เกิดมาเพื่อให้คุณชอบ (หัวเราะ) ถ้าคุณชอบก็ชอบ ถ้าไม่ชอบก็เถียงกันได้ แต่ถ้าต้องให้ผมพะวงตลอดเวลา ว่าเขียนอะไรแล้วคนกลุ่มนี้จะไม่ชอบ แบบนี้ไม่ได้

GM: ที่บอกว่าโลกนี้เป็นของคนรุ่นใหม่ไปแล้ว อาจารย์คิดอย่างไรกับคนรุ่นใหม่ ที่ชื่นชอบบทบาทและการปราศรัยบนเวที กปปส.

ดร. สมเกียรติ : ผมรู้ว่ามันต้องเปลี่ยนรุ่น ใช้คำว่ารุ่น 14 ตุลาฯ กับผมก็ได้ แต่ไม่ได้แปลว่าทุกคนต้องอยู่ในเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคมนะ คือเอากว้างๆ ว่าผมรู้สึกผิดหวังกับคนรุ่นผม คือคนที่อายุ 60 บวก พวกเกษียณแล้ว เราคือคนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม กับเหตุการณ์ตั้งแต่ 2516, 2519 มาจนเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 แล้วก็ต่อมาปี 2550-2551 แล้วก็มาถึงปัจจุบัน คุณจะเห็นเลยว่าประวัติศาสตร์ซ้ำรอยตลอด ไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไร มีปัญหาเดิม แล้วก็แก้แบบเดิม คือด้วยการยึดอำนาจ แล้วก็ตั้งองค์กรร่างเอกสาร ร่างรัฐธรรมนูญ แล้วก็หาคนเข้ามาสวม ผมจึงผิดหวังต่อประวัติศาสตร์ในช่วงชีวิตของผม ผมอายุ 66 เห็นประวัติศาสตร์วิวัฒนาการทางการเมืองของสังคมไทยล้มเหลว ต้องยกให้เป็นความล้มเหลวของคนรุ่นนี้

โดยตัวเองผมก็คงช่วยอะไรไม่ได้มาก เพราะผมเป็นส่วนของรุ่นแห่งความล้มเหลว คุณดูในรัฐบาลสิ นั่นคือพวกคนแก่ที่ล้มเหลวรุ่นเดียวกับผมทั้งนั้น คนแก่ที่ไม่มีงานทำแล้วก็ไปขุดกันมาจากไหนไม่รู้กว่าครึ่ง พวกทหารที่เกษียณ แล้วก็เป็นพวกคนที่หายไปจากสังคม ไม่เคยมีเสียงอะไรที่จะโวยวายเดือดร้อน ไม่เคยออกมาขอเสนอความเปลี่ยนแปลง คุณไปเช็กชื่อ สนช. ดูสิ เป็นแบบนี้กว่าครึ่ง ยิ่งพอเจอ สปช. นี่ผมเซ็งเลย คนแก่บางคนไม่รู้ไปไหนมา แล้วอยู่ๆ ก็มาเป็นสภา ผมเลยบอกว่าช่วงนี้ ผมขอพูดมากหน่อยก็แล้วกัน ก็คือในเฟซบุ๊ค เนื่องจากว่าแทนที่คนรุ่นใหม่จะเข้ามามีส่วน กลับกลายเป็นคนแก่ แล้วมันจะปฏิรูปกันได้ยังไง

ทุกสังคมในโลกนี้ ทุกประเทศ จะต้องมีคนรุ่นใหม่มาแทนคนรุ่นเก่าโดยธรรมชาติของชีวิต แล้วโดยวิวัฒนาการทางประวัติศาสตร์สังคม คนรุ่นใหม่ย่อมดีกว่าคนรุ่นเก่า เพราะว่าคนรุ่นเก่าทำอะไรให้ไว้ในจุดหนึ่ง คนรุ่นใหม่ก็จะเรียนรู้จากความผิดพลาด แล้วก็ต่อยอดต่อไป ประวัติศาสตร์มนุษย์ต้องเป็นอย่างนี้ ถ้าสังคมไหนมีคนรุ่นใหม่แย่กว่าคนรุ่นเก่า ถือว่าเป็นสังคมที่ใช้ไม่ได้ ยกตัวอย่างประเทศใกล้เคียงอย่างอินโดนีเซีย มี ครม. ชุดใหม่ 30 กว่าคน ประมาณ 20 คนเป็นคนอายุต่ำกว่า 40 คนรุ่นเก่าจะบอกว่า ครม. ชุดนี้ไม่รู้จัก มาจากไหน โนเนม อย่างหนังสือพิมพ์จาการ์ตาโพสต์ วิจารณ์ว่าไม่มี Wow Factor คือเห็นแล้วว้าว! แต่ผมกลับคิดว่านี่ไง เป็นคนรุ่นใหม่ คนแก่ๆ ก็รีไทร์ไปสิ

GM: ที่ผ่านมามีเด็กรุ่นใหม่ที่ออกมาแสดงความเป็นขบถ อย่างเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล และ อั้ม เนโกะ (ศรัณย์ ฉุยฉาย) พวกนี้ถือเป็นความหวังมั้ย

ดร. สมเกียรติ : ผมไม่ค่อยรู้จักชื่อพวกนี้เท่าไหร่ และไม่รู้ว่าคุณหมายถึงขบถแบบไหน ผมยกตัวอย่างที่สังคมอาจจะเห็น อย่างปลื้ม (ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล) กับพ่อเขา ปลื้มกลับมาจากอเมริกาก็ขบถนะ ความคิดอะไรต่างๆ ของเขา จะผิดจะถูกแล้วแต่คุณจะถกเถียงกัน แต่เขาก็ขบถกับคนรุ่นพ่อเขา เหมือนกับก่อนหน้านั้นสัก 20 ปี อาจารย์ไกรศักดิ์ก็ขบถกับคนรุ่นพลเอกชาติชาย แล้วต่อมา ปลื้มก็เริ่มเป็นนักวิเคราะห์เศรษฐกิจอะไรต่างๆ แล้วในที่สุดก็เงียบไป คือเขาไม่ได้กลายเป็นผู้ที่จะชูธงทางการเมือง ตอนไปสมัครผู้ว่าฯ ก็ถือว่ายังไม่ค่อยพร้อม

ผมจึงมั่นใจว่าคนรุ่นใหม่ๆ ขบถในส่วนที่ไม่ใช่การเมือง เศรษฐกิจอาจจะกึ่งๆ แต่ว่าถ้าธุรกิจ คนรุ่นใหม่เข้ามาแทนที่คนรุ่นเก่าแล้ว แต่พอมาพูดถึงการเมือง ผมว่าเราไม่พัฒนาทั้งรุ่นเก่ารุ่นใหม่ คุณลองดูชิดชอบรุ่นพ่อ แล้วมารุ่นลูก ก็ไม่ได้มีความเปลี่ยนแปลงแตกต่าง ศิลปอาชาไม่ว่าจะเป็นพ่อหรือลูกสาวลูกชาย ไม่มีใครเป็นขบถในทางการเมือง ฉะนั้น อาชีพการเมืองเป็นอาชีพที่ไม่พัฒนามากที่สุด ก็หวังพึ่งยาก

GM: อาจารย์เป็นอนุรักษนิยมหรือเสรีนิยม

ดร. สมเกียรติ : ผมเป็นวิชาการนิยม หมายความว่าผมจะพยายามหาเหตุผล เอาความรู้ที่มี จากเรียนมา ฟังเขามา อ่านหนังสือ พยายามอธิบายปรากฏการณ์ให้เข้าใจ เมื่อเข้าใจแล้ว ถ้ามีข้อเสนอแนะก็เสนอแนะ แต่ผมไม่ใช่นักปฏิบัติที่จะเข้าไปฟันฝ่านำหน้าฝูงชน ถือธงนำ ถ้าพูดให้สูงเกินไปก็คือเป็นนักคิด ถ้าพูดให้สูงไปอีกก็คือเป็นนักปรัชญา แต่เราพูดอ้างตัวอย่างนี้ไม่ได้ มันน่าเกลียด ซึ่งจริงๆ แล้วในเชิงวิชาการ คำว่านักปรัชญาเป็นคำที่ไม่ได้ถือว่าสูงนะ ก็แค่ผู้ที่ตั้งคำถามแล้วหาคำตอบ แล้วก็เผยแพร่ต่อไป แล้วก็กลับบ้าน (หัวเราะ) ไม่ใช่ผู้เปลี่ยนแปลงสังคมในเชิงปฏิบัติ ปฏิบัติก็ต้องราชาอย่างที่เพลโตบอก หรือเป็นนายกฯ เป็นประธานาธิบดี เป็นผู้ปกครอง แต่คุณก็เห็น เพลโตเขาก็ไม่ได้ปกครองอะไร เขาเป็นครู

GM: อาจารย์มองปรากฏการณ์หนังสือแนวเสรีนิยมที่ออกมาเยอะๆ ในช่วงหลังยังไง แล้วเด็กรุ่นใหม่ๆ ซื้ออ่านกันมากมาย

ดร. สมเกียรติ : คุณคงหมายถึงแนวคิดสาธารณรัฐนิยม เสรีนิยม ไม่เอาสถาบันพระมหากษัตริย์แบบนั้นหรือเปล่า พูดตรงๆ คือว่า มีกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ปฏิเสธสถาบัน วิพากษ์วิจารณ์ ผมคิดว่านี่เป็นกระแสปกติตามโลกตะวันตก วิจารณ์ได้ แต่ยังไม่เห็นว่ามีคนรุ่นใหม่ที่จะรวมตัวกันก่อตั้งเป็นพรรคสาธารณรัฐนิยม แล้วก็เป็นพรรคการเมืองที่ล้มสถาบัน แบบนี้ยังไม่มีนะ ที่จะเป็นปฏิวัติฝรั่งเศส ไม่มีใครกล้าหาญ แต่การปฏิเสธสถาบัน ไม่ชอบ อันนี้เป็นเรื่องธรรมดา

เวลามองประเทศ ก็เหมือนมองประวัติศาสตร์ของกลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีวิวัฒนาการไปตามเส้นทางของกาลเวลา ทุกประเทศจะมีไทม์ไลน์ประวัติศาสตร์ และมันอาจจะคล้ายกัน เพียงแต่ว่าใครจะไวหรือช้า จุดที่ฝรั่งเศสไปถึงแล้ว นั่นเมื่อปี 1789 คุณคิดดูสิ ว่า 200 ปีแล้วนะครับ สักวันหนึ่งประเทศไทยก็อาจจะเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนโครงสร้าง มีรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งทุกวันนี้เราก็ไม่ใช่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่เป็นระบอบประชาธิปไตยที่สถาบันพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งถ้าคนรุ่นใหม่เข้าใจ ก็จะรู้ว่าสถาบันเป็นสัญลักษณ์ ไม่ใช่เป็นอุปสรรคในการดำเนินชีวิต ซึ่งอาจจะเป็นของดีด้วยซ้ำไป ทำให้เรามีอะไรที่คอยบาลานซ์ในทางจิตใจ แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่เรื่องน่ากลัวที่ประเทศไทยจะเปลี่ยนไปสู่ระบอบการปกครอง ถ้าผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมคิดว่าเหมาะสม แต่ต้องกล้าหาญ อย่าหนี มีเรื่องแล้วหนีไปอยู่อังกฤษ อะไรอย่างนี้ไม่ได้

GM: การที่อาจารย์เอาเรื่อง Conversations with Thaksin ขึ้นไปพูดบนเวที กปปส. ถือว่าเป็นการเอาสถาบันไปโจมตีฝ่ายตรงข้ามไหม

ดร. สมเกียรติ : เป็นการเอาความจริงขึ้นมาอธิบายให้เห็นว่าคุณทักษิณเป็นคนยังไง จะใช้คำว่าโจมตีก็อาจจะไม่ใช่ คือเล่าให้ฟังว่าคุณทักษิณเป็นคนยังไง เขาเคยพูดว่าอย่างไร แน่นอนครับ ผมต้องการให้คนทั่วไปรู้ ว่าเป็นคนนี้มีทัศนะทางลบกับสถาบันอย่างชัดเจน เป็นทางการ ผมเพียงเสนอความจริง คัดเลือกความจริงตรงนี้ออกมาให้คนตระหนัก

CONVERSATIONS WITH THAKSIN

จับเข่าคุย ทักษิณ ชินวัตร

ผู้แต่ง : Tom Plate

ผู้แปล : สุรนันทน์ เวชชาชีวะ

สำนักพิมพ์มติชน

GM: จำได้ว่าสมัยก่อน ตอนที่อาจารย์จัดรายการโลกยามเช้าทางวิทยุ นำบทความจาก Far Eastern Economic Review มาแปลออกอากาศ แล้วคุณทักษิณก็เอาเรื่องสถาบันมาเป็นข้ออ้างเล่นงาน

ดร. สมเกียรติ : ตอนนั้นผมลุยเขาตลอด เขาก็จะหงุดหงิดๆ แล้วเขาก็จะฟ้องมาทางเจ้านายผม คือคุณปีย์ มาลากุล แต่ว่าตอนที่ผมแปลบทความชิ้นนั้น ผมพาดพิงถึงคุณทักษิณ แปลไปตามข้อเท็จจริงที่อยู่ในหน้าหนังสือพิมพ์ ผมแปลแล้วผมก็อธิบายว่า บทความนี้ ไม่ได้บอกว่าคุณทักษิณหมิ่นพระบรม-เดชานุภาพ แต่บทความนี้ เขาดูหมิ่นคุณทักษิณ ประหนึ่งว่าคุณทักษิณไปเป็นที่ไม่พอพระราชหฤทัย ผมยืนยันว่าบทความชิ้นนั้น หมิ่นประมาทคุณทักษิณ ไม่ใช่กล่าวหาว่าคุณทักษิณหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แต่คุณทักษิณต่างหากที่ปฏิเสธ ให้สัมภาษณ์ว่านิตยสารเล่มนั้น ไม่มีบทความชิ้นนั้นอยู่เลย ผมก็งง เฮ้ย! ก็มีนี่หว่า ก็ผมอ่านอยู่เนี่ยะ

สำหรับชีวิตของ ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล แล้ว เราก็คงจะต้องพูดถึงคนชื่อ ปีย์ มาลากุล เพราะเขาคือผู้ออกทุนให้ ดร.สมเกียรติ ทำบริษัทแปซิฟิคฯ จนโด่งดัง และร่วมงานกันต่อเนื่องจนมาถึงทำรายการวิทยุ จส. 100

ขณะเดียวกัน ชื่อของ ปีย์ มาลากุล ก็เป็นตัวละครสำคัญในการเปลี่ยนแปลงการเมืองของไทยมาโดยตลอด กับล่าสุดที่ถูกกล่าวหาพาดพิงว่าใช้บ้าน เป็นที่ประชุม ในช่วงก่อนรัฐประหารปี 2550

เราอดถาม ดร.สมเกียรติ ในฐานะผู้ที่เคยใกล้ชิดและเคยเข้า-ออกบ้านของปีย์เกี่ยวกับเรื่องนี้ไม่ได้ ดร.สมเกียรติออกตัวว่าเขาไม่ได้ไปที่นั่นมานานมากแล้ว

“ผมไม่ได้รู้ละเอียดถึงขนาดนั้น ผมจะเล่าตามที่ผมรู้จริงๆ คุณปีย์ก็คือเป็นนายทุนของกลุ่มบริษัทแอดวานซ์พับลิชชิ่ง พิมพ์หนังสือ นิตยสาร และก็ทำทีวี แล้วก็ทำ จส. 100 ในนามแปซิฟิคคอร์ปอเรชั่น ธุรกิจคุณปีย์ ก็มีอยู่แค่นั้น เริ่มจากนักจัดรายการเพลงเมื่อก่อน กาลเวลาผ่านไป คุณปีย์ ก็เป็นที่รู้จักเยอะ คุณปีย์เข้า-ออกในวังอยู่เสมอๆ เพราะว่ารับใช้เป็นการส่วนตัว ก็คือเข้าไปถวายความเห็นอะไรแบบนั้น แต่ไม่ใช่อยู่ฝ่ายระบอบอำมาตย์ หรือว่ามีกลไกทางการเมืองอะไรแบบนั้น ก็เท่านั้นเองเท่าที่ผมมองเห็น แล้วในช่วงที่ผมทำงานกับคุณปีย์ ก็จะเห็นบางทีมีเสด็จฯ ไปที่บ้านคุณปีย์ พวกเราก็ได้ร่วมเข้าเฝ้าฯ มันเป็นงานสังคมส่วนของคนกลุ่มนั้น แต่ไม่ได้เป็นเรื่องทางการเมือง แต่ว่าในที่สุดแล้ว คนทั่วไปก็เลยคิด ทั้งที่คนส่วนใหญ่มีข้อมูลน้อยกว่าผม ก็จะมองคุณปีย์แบบที่คุณถามนี่แหละ สงสัยมีอะไรแน่ๆ ดูเหมือนคนมีอำนาจ ทุกคนคิดว่าถ้ามีปัญหาอะไรก็จะไปหาคุณปีย์ จริงๆ คุณปีย์ไม่มีบทบาทอะไร เพียงแต่ว่าคนเข้าใจเอาเอง แล้วผมยืนยันนะครับ พูดไปแล้วคุณปีย์จะด่าผมหรือเปล่าไม่รู้นะ (หัวเราะ) คือถ้าใครไปฝากอะไรคุณปีย์ เขาไม่ทำให้หรอก มันก็จบอยู่ที่บ้านคุณปีย์นั่นแหละ คุณสมัคร สุนทรเวช ก็ไปบ้านนั้นไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง เขายังหงุดหงิด เสียใจ น้อยใจ โมโห เรียกไอ้หัวล้าน ไอ้หัวเถิก ทั้งๆ ที่เขาเป็นเพื่อนกันนะ”

GM: พวกอาจารย์ก็เคยถูกกล่าวหาว่าใช้ จส. 100 เป็นเครื่องมือของทหาร ตั้งแต่เหตุการณ์พฤษภาฯ ’35

ดร. สมเกียรติ : เรื่องนี้ถามกันเป็นประจำ คือต้องเล่ายาวนะครับ วันที่ 9 หรือ 10 หรือ 11 ประมาณนั้น เดือนพฤษภาคม ’35 มีคนชุมนุมเต็มราชดำเนิน คุณปีย์กับผมก็คิดกันว่าเดี๋ยวเราไปหาพวกกองกำลังรักษาพระนคร ตรงแถวๆ ลานพระรูป ที่แยกมิสกวัน เข้าไปพบพวก ผบ.ทบ. ผบ.ทอ. ผบ.ทร. อธิบดีกรมตำรวจ ก็นั่งอยู่ข้างหน้าเลย เราก็เสนอว่าอยากจะใช้ จส. 100 เป็นที่แสดงความคิดเห็นที่ขัดแย้ง เพราะผมเคยอยู่อเมริกา ฟังรายการวิทยุที่เรียกว่า Talk Radio อยู่บ่อยๆ แต่ที่เมืองไทยเราไม่มีแบบนี้ หรือที่บ้านเราตอนนี้เรียกว่าให้โฟนอินนั่นแหละ เราอยากจะใช้ จส. 100 เป็นที่ให้คนโทรฯ เข้ามาระบาย แสดงความคิดเห็น เพื่อจะคลี่คลายสถานการณ์ได้บ้าง เพราะมีเหตุผลว่าสมเด็จพระเทพฯ จะเสด็จฯ ไปที่สนามหลวงในวันรุ่งขึ้น กำลังจะมีพระราชพิธีประมาณนั้น ก็เลยตกลงกันว่า จะทำยังไงให้คนได้ระบายออก ส่วนที่ว่าเขาจะสลายตัวหรือไม่สลายตัว ก็ไม่รู้นะ เดี๋ยวลองดู เพราะว่าเราอยากให้เขาเปิดทางให้มีขบวนเสด็จฯ ในวันรุ่งขึ้น นี่ก็เป็นเป้าประสงค์

รายละเอียดในช่วงนั้น ก็คือสองกลุ่มโทรฯ เข้ามาแย้งกัน กลุ่มที่ต่อต้านมีประมาณ 40-50 คนที่จะเวียนกันมาด่าผม แต่ประเด็นที่อาจจะเป็นการสื่อสารกันผิด ก็คือผู้สื่อข่าวของผมที่ขอบเวทีที่ราชดำเนิน โทรศัพท์รายงานเข้ามาบอกว่า คุณศิริลักษณ์ ศรีเมือง ภรรยาของพลตรีจำลอง ได้ให้สัมภาษณ์ว่ากำลังจะหยุดการชุมนุมชั่วคราว เพื่อเปิดทางให้มีการเสด็จฯ ผมก็โอเค ถ้าจะมีการหยุดชุมนุมชั่วคราว ผมก็ช่วยเสนอแนะวิธีเดินกลับบ้าน ผมนี่หลับตามองเห็นราชดำเนินแล้ว เพราะว่าผมเป็นผู้เดินขบวนตั้งแต่ 14 ตุลาฯ ผมไปร่วมตั้งแต่ 13 ตุลาฯ ตั้งแต่เช้าถึงเช้ามืดวันที่ 14 แล้วกลับไปนอนที่บ้าน บ่ายผมก็วิ่งกลับไปดูเขาตีกัน เผาตึกอะไร ผมก็อยู่ในนั้นน่ะ แต่ผมไม่ใช่นักสู้นะ ผมวิ่งหลบกระสุนอย่างเดียว ผมปอดแหก ผมก็กลับบ้าน ฉะนั้นผมจะรู้ทางเส้นทางแถวนั้นอย่างดี

ผมก็พูดไปในรายการ แนะนำว่ากลับทางนั้นทางนี้ ใครจะกลับตรงนี้ ลงมาที่คลองเปรมฯ อยู่ข้างล่าง ป้อมพระกาฬ แล้วขึ้นมาสะพานผ่านฟ้าฯ ผมก็อธิบายหมด ส่วนท่านที่กำลังจะมาเพิ่ม ก็ไม่ต้องมาแล้วนะครับ เพราะว่าเดี๋ยวเขาก็จะหยุดชุมนุมชั่วคราวแล้ว เทปเสียงในวันนั้น ที่จริงผมยังเก็บอยู่นะ แต่ผมยังหามันไม่เจอ อยู่ที่บ้าน ไม่รู้อยู่ม้วนไหน เพราะผมย้ายบ้าน ณาตยา แวววีรคุปต์ นักข่าวไทยพีบีเอส เขาเคยขอ ผมบอก เออ…ผมอยากให้คุณเอาไปเปิด แล้วคุณไปคิดเอาเองก็แล้วกันนะ ผมขี้เกียจชี้แจงแล้ว ผมเก็บไว้เป็นหลักฐานตั้งแต่ม้วนแรกถึงม้วนสุดท้าย ถ้าใครจะศึกษาประวัติศาสตร์แล้วหาว่าผมพูดเพี้ยน บิดเบือน มันก็จะอยู่ในเทปนั้นแหละ แต่ว่านี่ผมเล่าจากความรู้สึกและความทรงจำ คือในที่สุดผมก็เอาไม่อยู่ คนเขาหาว่าผมบิดเบือนเพื่อสลายฝูงชน

พอประมาณสักตีหนึ่งตีสอง ผมก็บอกคุณปีย์ที่อยู่ที่บ้านว่า ไม่เอาแล้ว เครียดมาก เดี๋ยวเราจะโดนเผาตึกแล้วนะ เราก็ปิดสถานี แล้วรุ่งขึ้นผมก็ไม่ไปที่ตึกไทยคลองเตยแล้ว ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะมีใครจัดรายการได้ต่อไปอีก ผมกับภรรยาก็เลยว่าไปเที่ยวกันดีกว่า ขับรถไปอยุธยาสองคนผัวเมีย ระหว่างที่ขับรถไปยังไม่ถึงพระราชวังบางปะอิน ผมก็เปิด จส. 100 ปรากฏว่าเป็นเสียงคุณปีย์เองเลย (หัวเราะ) ผมเลยโทรฯ ไปหา คุณปีย์มาทำไม อย่าไปยุ่งเลย พอแล้ว พวกที่โทรฯ ไปพวกนี้ มันเป็นมวลชนจัดตั้ง เราคุมไม่อยู่หรอก ผมว่าเราสู้ไม่ไหว แต่คุณปีย์ดันรายการต่อไปอีกวันหนึ่ง แล้วก็เลิกวันนั้น เพราะไม่สำเร็จ

ฉะนั้น เราสองคนก็จะถูกคนด่า อันนี้ที่จริงหมายถึงพวกหนังสือพิมพ์ผู้จัดการสมัยนั้นนะ ถ้าพูดกันตรงๆ แบบให้ชัดๆ ไม่ใช่ประชาชนทั่วไปด่าผมหรอก สมัยนั้นสื่อไม่ได้มากขนาดนี้ ตอนนั้นหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ด่าผมเต็มหน้าเลย แล้วก็ประณามเละ คุณสนธินี่ตัวดีเลย ที่ด่าผมว่าถูกทหารใช้เป็นเครื่องมือ ซึ่งจริงๆ แล้ว ผมไปเสนอเองว่าจะใช้ จส. 100 เป็นเครื่องมือในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง

จะว่าเราผิดก็ได้นะ ไม่ได้มีปัญหาอะไร ผมไม่จำเป็นต้องเป็นวีรชนหรืออะไร ช่วงชีวิตและประสบการณ์ชีวิตของแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่เรื่องนี้ที่คุณถาม ผมเข้าใจว่าจะเป็นเรื่องอมตะที่ผู้คนจะพูดถึงตลอดไป แต่ด้วยอคติ จะทำให้เวลาที่ สมเกียรติ อ่อนวิมล ออกมามีบทบาทอะไรสักอย่าง รวมทั้งตอนที่มี กปปส. ก็จะมีคนขุดดาต้าเบสพวกนี้ออกมา เรื่องเดิมๆ เรื่องเดือนพฤษภาฯ ผมไม่ได้ขี้เกียจที่จะตอบ ผมก็ตอบแบบนี้ตลอดมา ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์จุดหนึ่งที่คนชอบกลับมาถาม ไม่ได้เป็นตราบาปอะไร เป็นกิจกรรมการสื่อสารอย่างหนึ่ง ซึ่งอาจจะทำให้เกิดความเข้าใจผิด

ฟังที่เขาเล่าเรื่องวิ่งหนีกระสุนตอน 14 ตุลาฯ แล้วก็อดแปลกใจไม่ได้ เราไม่เคยรู้จัก สมเกียรติ อ่อนวิมล ในแง่มุมที่ว่าเป็นคนเดือนตุลาฯ​ เลย ทำไมชื่อของเขาไม่ได้ถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์แบบนั้น

“ก็ผมไม่ได้เป็นบุคคลสำคัญไง เป็นแค่หนึ่งในไม่รู้กี่แสนคนที่ไปร่วมเดินขบวนด้วย ไม่มีใครรู้จักผมหรอก เห็นเขาเดินขบวนผมก็ไป ผมง่วงนอนกลับไปนอนที่บ้านได้ครึ่งวัน ตื่นมาบ่ายเห็นว่าเขาตีกันแล้ว ก็กลับมาราชดำเนิน พออยู่สัก 3-4 ชั่วโมง ชักปอดแหก น่ากลัวมาก กลับดีกว่า ผมก็หิ้วกระเป๋าขึ้น บขส. กลับสุพรรณฯ เลย กลับสามชุกบ้านเกิด กลัวตาย ผมไม่ใช่ผู้นำ แต่ก็ขอเป็นผู้มีส่วนร่วม”

แต่ก็เป็น 1 ใน 100 คน ที่ลงชื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญจนเกิดเหตุการณ์ตุลาฯ GM จำเขาได้

“ไม่ได้แปลว่าผมเป็นผู้ยิ่งใหญ่นะ เพียงแต่ว่าผมไปเซ็นเร็วกว่าคนอื่นแค่นั้น ถ้าประวัติศาสตร์จะยกย่องใคร ต้องยกย่องให้ถูก สมัยนั้นเวลาเขาทำหนังสือเวียน มันจะไปจุฬาฯ ธรรมศาสตร์ แล้วก็รัฐศาสตร์เป็นหลัก ผมยังเป็นอาจารย์อุ่นๆ จบปริญญาโทจากอินเดียมาได้ไม่กี่เดือนเลย กำลังฟิต ฉะนั้นคนที่มีชื่อร้อยคนนั้นคงไม่ใช่วีรบุรุษ เพียงแต่ว่าเราได้เซ็นเร็ว

“ต้องนับถืออีกหลายคนก็รับบทบาทต่อเนื่องไป แล้วก็มีคนเก่งอยู่หลายคนนะ อาจารย์ประสาน มฤคพิทักษ์ และใครต่อใคร เขาก็นับผมเป็นผู้ร่วมอุดมการณ์ เขาก็จะเชิญมาทุกปี ให้ไปที่สี่แยกคอกวัว ในฐานะ 1 ใน 100 แต่ผมไม่เคยไป ผมแค่เซ็นเร็ว อย่านับว่าเป็นวีรบุรุษเลย ไม่ใช่หรอก แต่แน่นอน ผมต้องการประชาธิปไตย คุณไปหยิบหนังสือ 14 ตุลาฯ ที่ไหนก็ได้ ตรงหน้าหลังๆ จะมีภาคผนวก ลูกหลานผมคงภูมิใจ (หัวเราะ) แต่คุณช่วยเขียนไปตรงนี้ที ว่าผมแค่เซ็นเร็วเท่านั้นเอง คนอื่น อยากเซ็นก็ไม่ได้เซ็น เขาปิดก่อน เพราะถูกจับกันหมด แล้วในบรรดาคนที่ถูกจับ คุณก็อย่าไปโทษเขา ว่าทำไมหลังจากนั้นจึงไม่มีอุดมการณ์อีกแล้ว มีหลายคนถูกด่าว่าทำไมไปอยู่กับนายทุน ก็เขาไม่ได้บอกว่าเขาจะไม่ไปอยู่กับนายทุน เพียงแค่เขาต้องการรัฐธรรมนูญ”

เขาเล่าให้เราฟังถึงจุดคลาดเคลื่อนทางประวัติศาสตร์เล็กน้อย ที่มิฉะนั้นแล้วเขาก็จะกลายเป็นวีรชนเดือนตุลาฯ

“อีกกลุ่มหนึ่งที่ถูกตำรวจจับ คือพวกแจกใบปลิวที่แถวๆ วงเวียนทหารอาสาตรงสนามหลวง แล้วก็ไปบางลำพู เขาแจกกันตั้งแต่ช่วงเช้าสายไปจนถึงบ่าย วันนั้น ผมก็กะว่าจะไปช่วยเขาแจกเหมือนกันนะ คิดว่าจะไปตอนบ่ายหลังจากดูละครกรมศิลป์ ที่หอประชุม โรงละครแห่งชาติ เพราะตอนนั้นผมกำลังจีบผู้หญิงอยู่คนหนึ่ง ซึ่งก็คือภรรยาผม เขาเป็นคุณครูสอนโรงเรียนสายน้ำทิพย์ พาเด็กไปดูละครกรมศิลป์ในวันนั้น แต่พอผมเห็นเพื่อนๆ ที่ไปแจกใบปลิวโดนจับกันหมด กูกลับดีกว่า (หัวเราะ) นี่เรื่องจริงนะ ผมไม่ได้อาย ถ้าผมไม่ติดว่าต้องดูละครก่อน ถ้าวันนั้นไม่ไปจีบแฟนคนนี้ ผมคงไปเดินแจกใบปลิวตั้งแต่เช้า ป่านนี้อยู่ในรายชื่อถูกจับแล้ว

“บางคนในกลุ่มนั้น ชีวิตเขาก็กลายเป็นนักร้องบ้างอะไรบ้าง ชีวิตคนมันไม่เหมือนกันในแต่ละวัย อย่าไปยกให้แต่ละคนเป็นวีรบุรุษ โดยที่เขาไม่ได้ตั้งใจเป็นวีรบุรุษ เขาเพียงอยากจะช่วยเพื่อน แล้วก็จรรโลงอุดมการณ์ของคนหนุ่มสาวในวัยนั้น ผมคงดวงไม่ดีเองที่ไม่ถูกจับ (หัวเราะ) คุณจึงไม่มีวันเจอผมไปร่วม 14 ตุลาฯ ผมเคยไปครั้งสองครั้งในฐานะสื่อมวลชน ไม่มีหรอกที่จะไปจับมือ อุดมการณ์ 14 ตุลาฯ คนที่เขาตายไป เขายิ่งใหญ่กว่าผมเยอะแยะ”

GM: ชีวิตทุกวันนี้ มาอยู่ที่บ้านปากช่อง อาจารย์เป็นอย่างไรบ้าง

ดร. สมเกียรติ : ดี เงียบแบบนี้ดี ก็ตั้งใจไว้อยู่แล้ว ว่าในชีวิตนี้จะต้องแก่ ต้องไม่มีงานทำ ไม่มีใครจ้างเราไปทำอะไรอีกแล้ว อายุ 66 ที่จริงก็เกินวัยเกษียณมาตั้ง 6 ปีแล้ว และส่วนตัวผมเองก็นิสัยไม่ค่อยดี คือทำงานกับใคร ก็จะลาออกอยู่เสมอ งานดีๆ เป็นผู้อำนวยการช่องทีวีดาวเทียมตั้งสองสามแห่ง เงินเดือนสองแสน แต่ผมก็มีความรู้สึกว่าทำงานกับเขาไม่ได้ อยากทำอะไรแล้วถ้าไม่ได้อย่างใจ ก็ไม่อยากทำ ตอนที่มีคนมาออดอ้อน โอ้โลม ปฏิโลม ชื่นชม ยกยอ อาจารย์สมเกียรติเป็นนักปฏิวัติวงการข่าวโทรทัศน์ ใครมาพูดอะไรนี่ผมก็รำคาญนะ (หัวเราะ) คือรู้ว่าเขาจะเอาเราไปใช้งานนั่นแหละ ก็โอเค ผมจะทำงานให้ แต่พอไปทำจริงๆ ก็ไม่ได้เป็นตามที่คุยกัน จะเอาเราไปเป็นเครื่องมือในการตลาดหรือการขาย หวังว่าชื่อเสียงของเราจะทำให้ข่าวช่องนี้ขายได้ ซึ่งส่วนใหญ่ที่เขาจ้างผม มันจะออกมาในรูปนั้น ผมคิดว่าเสียเวลาเปล่าๆ ถ้านายทุนใหญ่มาจ้างเราทำ แล้วไม่ได้ทำจนได้เป็นผลงานที่ผมคาดหวัง ล้มเหลวเปล่าๆ เหมือนเราไปเกาะเงินเดือนดีๆ กินจนตาย เสียความรู้สึก สู้มาอยู่แบบไม่มีเงินเดือน อยู่มันอย่างนี้แหละ จนกว่าจะมีจังหวะว่าได้ทำอะไรจริงๆ จังๆ

คำว่า นักปฏิวัติวงการข่าว คำนี้ผมไม่ได้ใช้เองเลยนะ พวกสื่อมวลชนเขาใช้ ผมก็ อืมๆ อยากยอก็ยอไป คือยกย่องเรา เราก็จะไปปฏิวัติให้จริงๆ นะ ผมก็จะวางแผน มีการใช้งบประมาณ จ้างคน ปรับปรุงคน แต่พอไปอยู่สัก 5-6 เดือน มันไม่เป็นไปตามนั้น เขาไม่ยอม เขาตัดงบ เขาอะไร แล้วเขาก็จะพาเราไปหาลูกค้า ไปคุย อาจารย์สมเกียรติมาบริหารช่องเราครับ ช่วยซื้อเราหน่อย พอเจออย่างนี้ปุ๊บ ผมก็เลิก ผมไม่ใช่นักการตลาด หน้าผมไม่ใช่พวกขายของ หน้าผมคือพวกผลิตของ แล้วให้คนอื่นนำไปขาย มันมีความรู้สึกลำบากใจ ส่วนใหญ่ถูกใช้แบบนี้ ผมก็ออกเลยดีกว่า ผมอาย คุณจะต้องไปเจอพวกผู้ใหญ่ในวงการเอเยนซี เหมือนผมกระจอกต้องมาขอตังค์ แต่ที่พูดนี่คือผมคิดไปเองนะ เป็นความรู้สึกอย่างนี้เอง พวกนายทุนเขาคงไม่ได้คิดว่ามันร้ายแรงสำหรับผมขนาดนี้

GM: แต่ถ้าเรายังอายุน้อยๆ เรายังต้องทำสิ่งเหล่านี้อยู่หรือเปล่า

ดร. สมเกียรติ : ไม่ต้อง ผมไม่เคยทำ เท่าที่เคยทำมากที่สุด ก็คือไปหาลูกค้าครั้งแรกพร้อมกับเซลส์กับมาร์เก็ตติ้ง เพื่อแนะนำว่าเรามีอะไร แต่ถ้าให้ไปไล่จี้ ว่าช่วยผมหน่อย ผมจะไม่ทำ พูดง่ายๆ คือในช่วง 11 ปีที่ผมอยู่แปซิฟิคฯ วิธีทำงานก็คือว่าผมมีทีมงานผลิตข่าวได้ดี ผลิตสารคดีได้ดี เอาเป็นว่าเรามีฝีมือในการผลิต ผมไปเบิกเงินมาใช้จ่ายเพื่อผลิตผลงานอย่างเดียว ผมจะไม่เดินไปหาเงิน เดินไปหาเอเยนซีหรือลูกค้า ชีวิตสมัยแปซิฟิคฯ เป็นชีวิตโปรดักชั่น แต่เผอิญว่ามันขายดี นิสัยผมก็เลยเสีย คือเคยผลิตจนไม่ต้องขาย เพราะลูกค้าวิ่งเข้ามาซื้อเอง พวกมาร์เก็ตติ้งก็สบาย ผมก็นิสัยเสีย ไม่รู้จักหาตังค์

แต่พอมาถึงยุคนี้ มันเป็นยุคของการแข่งขัน คือต้องทำทุกรูปแบบเพื่อให้ได้ตังค์มา โดยไม่คำนึงถึงคุณภาพงานด้วยซ้ำไป ผมก็ถือว่าผมหลงยุคนะ ผมอยู่ในยุคคลาสสิก ปัจจุบันนี้เป็นยุคอะไรก็ไม่รู้ วุ่นไปหมดเลย ก็ปรับตัวไม่ค่อยได้ คนที่ด่าผมมาทางเฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ ว่าผมเป็นพวกหลงยุค ผมก็นั่งยิ้มๆ ใช่ เพราะว่ายุคผมโปรดักชั่นคุณภาพต้องเป็นหลัก คุณภาพนี่ต้องถ่ายทำ เขียนบท ตัดต่อ และพรีเซนติ้งตัวบุคคล คุณภาพคือคนที่มาร่วมทีมกับเรา มีความคิดอ่าน เป็นนักอ่าน นักคิด เป็นนักครีเอท สร้างสรรค์

เดี๋ยวนี้เขาไม่ทำอย่างนั้นกันแล้ว เขาประหยัดทุกรูปแบบ จะให้ยกกองออกข้างนอก เดินทางมาสัมภาษณ์คนแก่อย่างผมที่ปากช่อง ถ้าเจ้านายเขาคิดมาก เขาไม่ให้คุณมาหรอก อย่างวันนี้ พวกคุณมาหาผมที่นี่ ผมว่าคุณก็เสียตังค์หลายพันบาท ค่าน้ำมันรถ ค่าข้าว เวลาผมเขียนบทความ ทุกวันนี้ผมเขียนบทความประจำให้นิตยสาร เขาไม่ได้ให้ผมเยอะ แต่ผมไม่ได้ว่าอะไรนะ ให้ผมเขียนฟรีๆ ผมก็เขียน ถ้าคิดว่ามันมีประโยชน์ ที่พูดนี่ก็จะบอกว่าผมรู้ว่าวงการนี้ไม่มีตังค์มาจ่ายนักเขียนกันมากมาย แต่คุณเองก็คงรู้ใช่ไหม ว่าการเขียนงานสองหน้าในจอคอมพิวเตอร์ เราต้องอ่านหนังสือบางทีสามสี่เล่ม แล้วก็กรองไปกรองมา เพื่อจะให้ได้อะไรที่เป็นความคิดของเรา แต่ไม่ได้ว่าอะไรนะ

ยิ่งในช่วงนี้ ทีวีคุณภาพต่ำลง ไม่ว่าจะช่องไหนที่โผล่มาใหม่ เป็นช่องที่ไม่ลงทุนทั้งสิ้น ลงทุนน้อยมาก เหมือนกับคิดว่าเอาแค่นี้แหละ แล้วมันคงได้กำไร ไม่มีใครลงทุนแบบจัดโครงสร้างให้เต็มที่ นี่คือโทรทัศน์ แล้วก็ได้งานดีๆ ออกมา แล้วค่อยไปหาตังค์ ส่วนใหญ่เขาจะเริ่มกันแบบนี้ คือพอได้ไลเซนส์มา ก็มีฉาก มีเก้าอี้สองตัว แล้วก็ให้คนพูดกันไป แล้วก็ใช้ฝีมือการไปเจ๊าะแจ๊ะขอตังค์จากเอเยนซี

GM: แล้วคนทำสื่อรุ่นพวกผมจะทำยังไง กับช่วงเวลาแห่งความตกต่ำอย่างนี้

ดร. สมเกียรติ : ก็นี่ไง คุณก็จะเห็นว่าผมก็ไม่ประสบความสำเร็จอีกต่อไปแล้ว เนื่องจากผมไม่ได้มีความเป็นนายทุน หรือไม่ได้มีเงินมหาศาลที่จะเสี่ยงให้เห็นว่าที่เสนอนี้ถูกต้อง ผมก็ได้แต่ไปบอกนายทุนหลายเจ้า พวกคนที่รวยๆ ทั้งหลาย ลงทุนให้ผมสักร้อยล้านเถอะ ร้อยล้านนี่ถือว่าเท่ากับ 1 ใน 10 ของเมื่อ 30 ปีที่แล้ว เวลาคุณทำหนึ่งสถานีโทรทัศน์ เมื่อก่อนต้องเป็นพันล้านนะ แต่เดี๋ยวนี้มันถูกลง กล้องที่ทำวิดีโอเขาก็ใช้กล้องภาพนิ่ง ซึ่งคุณภาพสูงอีกต่างหาก ฉะนั้นผมก็คิดว่าร้อยล้านน่าจะโอเค ผู้ใหญ่ที่รวยๆ ก็บอกว่า อาจารย์เอาไว้ก่อน

เรื่องข่าวนี่มีอยู่อย่างหนึ่งที่ผมติดใจมาสิบปีแล้ว แล้วก็ไม่มีนายทุนคนไหนเอาด้วย ผมก็ชักขี้เกียจพูด แต่ถ้าเจอหน้าผมก็จะสะกิดอีกที คือผมอยากบริหารจัดตั้งและสร้างองค์กรที่ผลิตรายการข่าวเป็นภาษาอังกฤษให้ยิ่งใหญ่แล้วก็เป็นที่เชื่อถือได้ในอาเซียน ผมคุยมาหมด แต่เขาบอกเขาไม่เอาหรอกอาจารย์ เสียตังค์เยอะ เพราะฉะนั้น งานนี้เป็นงานในอุดมคติ ในทางธุรกิจก็มองไม่เห็นว่ามันจะเวิร์ก เพราะเราไม่ได้จะทำแบบช่องดิจิตอลกระป๋องกระแป๋งที่คุณเห็น มีแต่สิงคโปร์ที่ไฟแนนซ์ให้ช่อง Channel News Asia ซึ่งก็จืดชืดสนิท โปรดักชั่นดีนะ แต่เนื้อหาเซ็งหมด เพราะว่ามันเป็นทีวีของรัฐ มันไม่โฉ่งฉ่าง ผมต้องการแบบเอกชนมากกว่า มาแล้วผมจะเที่ยวหาเรื่องไปทั่ว 10 ประเทศเลยนะ โอ้โห! มันมีเรื่องสร้างปัญหาให้เราได้เยอะเลยนะครับ โครงการพวกนี้เคยเสนอ อสมท. ทำโปรเจ็กต์อยู่ 3 เดือน เขาก็ไม่เอา เพราะมัน 200-300 ล้าน ไปเสนอทางทรูวิชั่นส์ เสนอช่อง 3 เขาบอกโอ๊ย! ไม่ไหวหรอกอาจารย์ แค่ 10 ล้านได้ไหม ส่วนใหญ่ก็ออกมาแนวนั้น

GM: แล้วอย่างทีวีสาธารณะแบบช่องไทยพีบีเอส มีคุณสมชัย สุวรรณบรรณ ไปอยู่ ซึ่งสมัยก่อนเคยทำบีบีซี เคยทำข่าวที่มันซีเรียส

ดร. สมเกียรติ : ผมเป็นแขกรับเชิญไปออกอากาศอาทิตย์ละ 8 นาที ในรายการที่มีความยาว 1 ชั่วโมง ก็คือรายการ ที่นี่ไทยพีบีเอส ของคุณณัฏฐา โกมลวาทิน ที่ผมไปออกเนื่องจากว่าเป็นคอนเซ็ปต์ของ คุณสมชัย สุวรรณบรรณ ตอนนั้นเขาเห็นผมหลุดมาจากสปริงนิวส์ปุ๊บ เขาก็โทรฯ มาเลย จะให้ผมทำรายการ ให้ผมโฮสต์รายการเองเลย ผมก็บอกว่าผมอายุมากแล้ว หายไปนานแล้ว ถ้ายังอยากไปโผล่ทีวีอีก ผมไม่อยากให้คนเวทนาผม ผมอยากจะหายไปเฉยๆ คืออยากไปคุมโปรดักชั่นข้างหลัง คุณสมชัยก็บอก งั้นเอางี้สิ ให้ผมเป็นหนึ่งในคนที่อาวุโสอีก 4 คน มาเป็นแขกรับเชิญเพื่อคอมเมนต์ในเรื่องต่างประเทศ ก็คือเอาคนเก่าๆ มาขายนั่นแหละ โอเค อย่างนี้ก็พอไหว คงไม่มีใครถือว่าผมจะมาเป็นโฮสต์รายการทีวี

กลับมาที่เรื่องไทยพีบีเอส คุณสมชัยเขาคงมีครีเอทีฟอะไรอยู่บ้าง แต่เท่าที่ผมฟังดูจากคนอื่นๆ ก็พบว่ายังมีปัญหาในการบริหารจัดการเยอะแยะมาก เพราะว่าการตรวจสอบจู้จี้จุกจิก ทำให้กระดิกลำบาก จะคิดอะไรใหญ่ๆ ที่ลงทุนเยอะๆ ก็ไม่ผ่านงบประมาณ งบประมาณที่มีอยู่จะถูกแบ่งปันไปใช้ทางอื่น ครีเอทีฟอะไรแพงๆ ไม่ได้

GM: แต่เขามีงบ มีเงินแน่นอนจากกฎหมาย

ดร. สมเกียรติ : ก็ปีละสองพันล้าน มันไม่พอหรอก มีคนที่ช่องทรูนั่งคุยกันสมัยที่ผมเป็นที่ปรึกษา บอกว่ารัฐบาลเขาก็ถามว่าทำไมใช้เงินสองพันล้าน แล้วก็ได้อะไรเท่าๆ กับที่ทรูวิชั่นส์หนึ่งช่อง อย่างเช่น TNN24 ซึ่งปีหนึ่งใช้งบประมาณไม่ถึง 200 ล้าน รัฐบาลไม่เข้าใจ โปรดักชั่นของไทยพีบีเอสดี แต่มันเยอะจนกระทั่งเงินกระจาย

ผมเคยพยายามที่จะไปสมัครเป็น ผอ. ช่วงแรกๆ ที่เขาตั้งองค์กรเสร็จ ตอนที่ผมไปสมัคร ผมตั้งใจอยู่แล้ว ว่ากฎหมายฉบับนี้ที่ตั้งองค์กรกระจายเสียงแพร่ภาพ มันมีปัญหา คือมันไม่มีโฆษณา ผมอยากให้มีโฆษณา เพราะว่าจะได้หาตังค์มาสมทบ ตอนทำ พ.ร.บ. ฉบับนี้ ผมก็ค้านอุตลุดเลยนะ บอกเขาไปแล้ว ว่าโลกนี้เขาจะเลิกทำพับลิคบรอดคาสต์กันไปหมดแล้ว ไอ้ที่มีอยู่ก็เซ็งๆ ร่อแร่ๆ อย่างที่อเมริกา เขาแทบจะต้องเรี่ยไรเงินกันแบบเคาะประตูบ้าน รัฐบาลถอนเงินไป เพราะว่าเขาไม่ค่อยแฮปปี้กับข่าวสาร ระหว่างร่างกฎหมายนี้ ผมก็บอก พวกคุณเอ็นจีโอจะมาเข้าใจการทำทีวีอย่างพวกผมได้ยังไง ไม่ช้าคุณก็จะเอากล้องกระจอกๆ มานั่งทำ แล้วก็นั่งคุยกันไป ทำแบบคุณน่ะ มันจะไม่มีใครเขาดูหรอก คุณจะต้องเข้าใจเรื่องแสงสี กราฟิก ซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ ไม่ใช่แค่โผล่มาจากป่า คุณก็ทำได้ มันก็จะกลายเป็นอย่างที่คุณเห็น คือเต็มไปด้วยเอ็นจีโอ

GM  : เทียบกับสมัยก่อนตอนที่อาจารย์ยังหนุ่ม แล้วทำแปซิฟิคฯ ตอนนั้น มันรุ่งเรืองน่าหวือหวา แล้วมีเงินจับจ่ายใช้สอยได้ดีกว่าตอนนี้มั้ย

ดร. สมเกียรติ : ตอนช่วงที่ผมรุ่งเรือง มีบริษัทเอกชนมาสนับสนุน 25 ล้านบาท แบบไม่ต้องคิดอะไรมากเลย เพราะเขาชอบฝีมือทีมป่า ทีมวัฒนธรรม ทีมสารคดี คือเงินเขามีเยอะ พอถูกใจปุ๊บเขาก็ทำ แล้วเขาไม่ได้เอาอะไร คือก็ได้ชื่อเสียงไป เมื่อก่อนเคยมีคนแบบนี้ แต่พวกเราต้องทำงานดีออกมาก่อนไง

ถ้าพูดถึงรายการข่าวสมัยแปซิฟิคฯ จริงๆ มันก็ไม่ได้ดีอะไรขนาดนั้น

ถ้าคุณเทียบกับข่าวทีวีสมัยนี้ คือถ้าไปนั่งดูเทปเก่าๆ แล้วคุณหัวร่อเลย แต่ถ้าเราเปรียบเทียบกับความแร้นแค้นของข่าวทีวีในยุคนั้น จึงถือว่านั่นเป็นของใหม่มากๆ ด้วยสถานการณ์หรือบริบทตอนนั้น มีช่อง 3 5 7 9 11 ข่าวทุกช่องก็เซ็งหมด ถ่ายมาแล้วก็คัทๆ ออกอากาศ ให้มันจบๆ ไป จะได้ไปดูละครซะที ชีวิตสมัยนั้นจะเป็นอย่างนั้น ละครเป็นหลัก แม้กระทั่งช่อง 3 ยังไม่ทำข่าวเลย แต่ว่าปลอมตัวมาเป็น ‘ข่าวร่วม 3-9 อสมท’ แปลว่าช่อง 3 เองตอนนั้นก็ไม่ค่อยทำข่าว แต่ว่าให้ช่อง 9 ทำ แล้วช่อง 3 ก็จะมีกล้องพ่วงไปด้วย ช่อง 9 สั่งมาละกัน แล้วก็ขึ้นโลโก้เป็นข่าวร่วม เพราะมันเสียตังค์ เสียเวลา เขาจะดูละครกัน

ผมก็เอาคอนเซ็ปต์ฝรั่ง แบบที่เคยดูตั้งแต่ปี 1960 ยุคสงครามเวียดนาม เอาหลักรัฐศาสตร์ประชาธิปไตยมาใช้กับการทำงานข่าว ยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้า ครม. แถลงข่าวอะไร จะมีกล้องหนึ่งอยู่ที่ทำเนียบรัฐบาล ได้นักข่าวได้ข่าวปุ๊บ เขาก็จะโทรฯ บอกที่ออฟฟิศให้บึ่งไปอุบลฯ เพราะ ครม. แถลงข่าวเรื่องฝนแล้งที่อุบลฯ เราก็ไปถ่ายภาพฝนแล้งที่อุบลฯ มาประกอบ ทำสกู๊ปสั้นๆ มาปะข่าวแถลงในกรุงเทพฯ ส่งเทปมาทางรถ บขส. หรือไม่ก็การบินไทย แล้วแต่ความสะดวก เราก็ไปรับเทปที่หมอชิต หรือไม่ก็ดอนเมือง บึ่งมอเตอร์ไซค์ไปรีบเอาเทปมา แล้วก็รีบตัดต่อให้ทันคืนนั้น ฉะนั้นข่าวเราก็จะแปลก คือมีภาพ ครม. แถลงปุ๊บ ก็จะมีข่าวที่สองปะเข้าไป คือมีภาพจากอุบลฯ เลย

เวลาโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจไปต่างประเทศ ผมจะมีกล้องของแปซิฟิคฯ ตามไป เราใช้เงินเอง แต่ขอเกาะคณะไป พอกลับมาออกช่อง 9 ปุ๊บ ทุกช่องจะเหมือนข่าวช่อง 9 หมด คือทีวีพูล พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ไปเอเธนส์ รายงานข่าวเรียบร้อย แต่ของเรายังไม่จบ จะมีข่าวแปซิฟิคฯ พอตัดจากนายกฯ  เปรมปุ๊บ ก็มาเป็นข่าวชีวิตคนไทยในเอเธนส์ ผมก็ไปถ่ายมา มีคนไทยอยู่จำนวนเท่านี้ ทำร้านอาหารไทยอยู่ที่นี่ มีการโชว์เต้นระบำหน้าท้อง สมัยก่อนถือว่าใหม่มากเลย เป็นอย่างนี้ทุกคืน นี่คือความแปลก เดี๋ยวนี้ผมยังรู้สึกว่า เฮ้ย! พวกนักข่าวตามนายกฯ ไปต่างประเทศ มันยังทำข่าวร้านอาหารกันอีกเหรอ ลุงทำมาก่อน เลิกได้แล้ว (หัวเราะ) ประเภทไปนั่งร้านอาหารแล้วชิมเข้าปาก แล้วก็บอกอร่อย ผมพูดมาก่อน ผมจำได้ครั้งแรกที่ทำ คือตอนตามคณะไปแคนาดา เราไปร้านอาหารไทยในแคนเบอร์รา ผมบอกกล้อง เฮ้ย! จับภาพนี้หน่อย เดี๋ยวกินแล้วผมก็จะบอกว่าอร่อย เดี๋ยวนี้รู้สึกว่ามันเก่ามากแล้วนะมุกนี้ (หัวเราะ)

GM: มันแพงแค่ไหน สำหรับเนื้อหาแปลกใหม่ที่ใส่เข้าไป

ดร. สมเกียรติ : ชีวิตของพวกเราตอนนั้น เราใช้จ่ายจนหมด พูดง่ายๆ บริษัทผมมีรายได้ปีหนึ่งประมาณเกือบ 200 ล้าน จากมาร์เก็ตติ้งที่เขาหามาให้ โฆษณานี่เข้าคิวยาวเลยนะครับ เพราะว่าไม่มีที่เหลือจะให้คุณลงโฆษณาแล้ว เรารุ่งเรืองมากในช่วงประมาณ 3-4 ปีนั้น พนักงานผมแต่ละคน สมมุติจบปริญญาตรีมา ผมบรรจุให้ถึงห้าพัน สมัยก่อนส่วนใหญ่เริ่มต้นกันที่สามพันกว่า คือพูดง่ายๆ ผมจะดูให้เท่าเงินเดือนของแบงก์ เวลาเดินทางไปไหนมาไหน ก็ให้ขึ้นเครื่องบินหมด นักข่าวเราจะได้ไม่เหนื่อย เมืองไทยก็ขึ้นเครื่องบิน พักโรงแรมระดับมาตรฐานต่างจังหวัด กินอาหารตามสบาย ไม่จุกจิกจู้จี้ คือเอางานกลับมาให้ได้ก็แล้วกัน แต่พนักงานของผมจะไม่มีโอที พนักงานผมมีหัวใจ พวกเขากำลังมันกับงาน เพราะทุกคนก็มีชื่อเสียง เวลาไปไหนก็มีแต่คนชม โอ้โห! มาจากข่าวแปซิฟิคฯ มันมีความอิ่มตรงนี้ และเขาก็ตักตวงประสบการณ์ให้เต็มที่

จนมาถึงจุดที่ตัน เป็นผู้บริหารบริษัท เราเองก็รู้ว่ามันตัน เพราะว่าชีวิตเราปีหน้าไม่รู้จะไปไหน แต่ละปีๆ ไม่รู้จะต่อสัญญาได้หรือไม่ แล้วจะยังไง ตอนหลังๆ ทุกคนก็เริ่มมองว่ามันไม่มีที่ให้เติบโตไปกว่านี้อีกแล้ว แล้วผมเองก็จะมีปัญหากับทางรัฐบาลเยอะมาก จนในที่สุดเราก็ถูกยกเลิกสัญญา แต่ตอนนั้น ทุกคนก็มีวิชาติดตัวกันไปหมดแล้วล่ะ และก็ดังกันทั้งนั้นเลย ตอนนั้นก็จะมีคนนินทา ว่าพวกเด็กๆ ของ ดร. สมเกียรติ ชิ่งออกกันหมด เพราะผมห่วย ผมเอาแต่ใจตัวเอง แต่คุณลองไปเช็กให้ดี จะพบว่าผมบอกทุกคนเอง ว่ามันไม่มีที่ไปแล้วนะ การเมืองก็ทำให้เราตีบตัน ข่าวเขาก็ไม่ให้เราทำแล้ว จนสุดท้าย ที่เราไปตายคือที่ช่อง 5 อุปกรณ์เขาก็ซื้อให้ มีรถโอบีถ่ายทอดสด ไวร์เลสชุดแรกของเมืองไทย ซื้อมาจากญี่ปุ่นเลย 14 ล้าน แต่เขาไม่ให้เราทำข่าวการเมือง แต่ให้เราเอาไปถ่ายทอดรถติด เพราะว่าถ้าให้เราไปทำข่าว เขาคุมเราไม่ได้ ฉะนั้นแต่ละวัน พวกเราแทบจะไม่ได้ทำข่าว ในขณะที่ทุกคนเก่งกันหมด จึงต้องแยกย้ายกันไป คุณก็จะเห็นแต่ละคน เขาอยู่อย่างมีความสุข พอเพียง บางคนอาจจะรวยเป็นสิบเป็นร้อยล้าน บางคนก็อยู่อย่างมีความภูมิใจ และยังมีฝีมืออยู่ ตอนนั้นผมเองยังลาออกเลย (หัวเราะ) ใครๆ ก็ลาออกกันหมด

GM: ตอนนั้นรีครูทคนมายังไง เวลามองคนมองนักศึกษาจบใหม่

ดร. สมเกียรติ : สมัยนั้นพอบริษัทเรามีชื่อเสียง พวกเด็กหนุ่มสาวก็จะเข้ามาหาเราเอง ตอนเริ่มจริงๆ ก็คือมีผมคนเดียว ตอนคุณปีย์ตั้งบริษัท เป็นคนลงทุน แล้วผมก็มีเลขานุการอยู่คนหนึ่ง มาจากนิตยสารดิฉัน มาช่วยประสานงาน ผมก็ต้องไปหานักข่าวมาสักคน แล้วก็เจอเด็กผู้หญิงคนหนึ่งชื่อ นิรมล เมธีสุวกุล เป็นคนที่ลุยมาก ทั้งๆ ที่สวยอีกต่างหาก ผมเล่าเรื่องนี้ไปหลายครั้งแล้ว และนกก็คงภูมิใจที่ผมจะขอเล่าอีก ตอนนั้นเขาทำข่าวป่อเต็กตึ๊ง ก็คือข่าวอาชญากรรมนั่นแหละ แล้วก็ติดไปกับรถของพวกป่อเต็กตึ๊ง พอทำข่าวเสร็จ ก็วิ่งเอาเทปมาส่งทุกช่อง และส่งที่เราด้วย วันหนึ่งผมก็เห็นในข่าวป่อเต็กตึ๊ง เฮ้ย! ใครวะ มือขาวๆ ทุกวันนี้ผมยังจำได้ มือของนก มีกำไลเป็นหอยทะเล แล้วมือนั้นจับไส้เดือน คือเป็นข่าวที่เขาต้องจับไส้เดือน ผมก็เลยบอกลูกน้อง ลองไปตามไอ้น้องคนนี้ ที่มือมันสวยๆ แล้วมันจับไส้เดือนมาทำงานกับเรา ผมคิดว่านักข่าวผู้หญิงที่กล้าจับไส้เดือน มันต้องไม่ใช่เล่นๆ แล้วล่ะ (หัวเราะ)

จากคนแรก แล้วในที่สุด เราก็มีคนเข้ามาประมาณ 200 คน ส่วนใหญ่เป็นพวกบัณฑิตนิเทศฯ วารสารฯ ที่เห็นว่ากลุ่ม ดร. สมเกียรติ โด่งดัง ใครๆ ก็อยากมา ในช่วงนั้นจะพบว่ามันกลายเป็นกระแส อันนี้คุณต้องลองไปทำวิจัยดูนะ ว่าในยุค 3-4 ปีที่ข่าวแปซิฟิคฯ โด่งดัง คณะนิเทศฯ วารสารฯ กลายเป็นคณะที่เด็กเลือกอันดับหนึ่งในการเอนทรานซ์ คนที่สมัครส่วนใหญ่ผมให้ส่งเทปเสียงมาก่อน สมัยก่อนไม่มีกล้องวิดีโอ มีคนส่งใส่คาสเซ็ทมาเป็นร้อยๆ ม้วน ผมนั่งขับรถไป ก็ยัดเข้าเครื่องฟัง ฟังบุคลิกของเสียง จังหวะลีลา อันไหนเสียงดูดี ก็เรียกมาคุย ซึ่งต้องบอกเลยว่าผมลำเอียงนะ ถ้าใครจะมาประกาศข่าวให้แปซิฟิคฯ ผมต้องเลือกเอาคนหล่อๆ สวยๆ (หัวเราะ) ซึ่งจริงๆ มันผิดหลักการว่าจ้างนะ แต่ก็ต้องมีมันสมอง มีความคิดอ่าน มีการศึกษาดี ซึ่งถ้าหน้าตาโอเค ก็จะยิ่งดีใช่ไหม? อย่างคุณกรรณิกา ธรรมเกษร เขาไม่ได้เป็นพนักงานเรา เขามีชื่อเสียงจากการอ่านข่าวช่อง 3 ก็เลยดึงมาอ่านคู่กับผมไปก่อน เพื่อช่วยดึงดูดคนดู ส่วนผมนี่มาจากไหนก็ไม่รู้ ไอ้เด็กบ้านนอก จู่ๆ ได้ไปนั่งคู่กับเขา เขาเป็นดารา ผมยังเคยบอกคุณแอ้ ผมใจเต้นแรงเลย อย่าง วิทวัส สุนทรวิเนตร์ ก็หนีบแฟ้มมาสมัคร เอาพอร์ตโฟลิโอมาสมัครเองเลย เขามาจากออสเตรเลีย ยุคนั้นทุกคนเงินเดือนไม่ดีหรอก พูดถึงโดยเฉลี่ยกับความเป็นดารา แต่ว่าดีพอสมควรถ้าเทียบกับคนอื่นที่อยู่ในภาคธุรกิจ

GM: ทำไมเด็กหนุ่มสาวสมัยนั้น ยอมทำงานหนักให้กับข่าวแปซิฟิคฯ ทั้งๆ ที่เงินเดือนก็เท่ากับพนักงานแบงก์

ดร. สมเกียรติ : ผมคิดว่าเพราะว่าสังคมยกย่อง คนกลุ่มนี้ทำอะไรก็เกิดประโยชน์ ทำประโยชน์ให้กับโลกข่าวสาร พูดง่ายๆ มีชื่อเสียงกันทุกคน แล้วผมก็ผลักดันให้ทุกคนโผล่จออย่างรวดเร็ว เมื่อเขาพร้อม คือไม่ได้รอช้า คนไหนถ้าโผล่เร็วแล้วยังไม่เกิด ผมก็อาจจะดึงลงมารออีกสักพัก เพื่อให้พร้อมจริงๆ คือผมอยากให้ทุกคนมีชื่อเสียง และมีผลงานอย่างรวดเร็ว เพราะว่าสัญญาของเรามีแค่ปีต่อปี เพราะฉะนั้นเมื่อทุกคนไปไหน ผมคิดว่าสังคมตอบรับกับกลุ่มพวกเราว่า เป็นคนที่มีฝีมือมีคุณภาพ แล้วก็เป็นคนที่ผมคิดว่ามีความเป็นมืออาชีพ

GM: สมมุติว่าถ้าตอนนี้อาจารย์เริ่มต้นทำสถานีข่าว คิดว่าจะรีครูทเด็กรุ่นนี้ให้มีความกระตือรือร้นในงานได้เหมือนกับยุคก่อนไหม

ดร. สมเกียรติ : ผมเชื่อว่าได้ อันนี้คุณอาจจะคิดว่าผมหลงยุคอีกแล้ว แต่ผมคิดว่ามนุษย์เรา ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาไหนของประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นเจเนอเรชั่นไหน มนุษย์เราล้วนเหมือนกัน คือต้องการแสวงหาความสำเร็จในชีวิต การยอมรับ การยกย่องจากสังคม ว่าเป็นผู้ทำงานในวิชาชีพที่ประสบความสำเร็จ นี่เป็นธรรมชาติพื้นฐานของชีวิตมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกหนุ่มสาวที่จบมหาวิทยาลัยมาใหม่ๆ ผมคิดว่าไม่มีปัญหาเลย ที่จะรีครูทหรือรับคนกลุ่มนี้เข้ามา เพราะคนที่จบจากมหาวิทยาลัยแต่ละปีก็มีมากมายเหลือเฟือ ขอให้เราประกาศหลักการให้ชัดเจน ว่าเราต้องการคนแบบนี้ เมื่อเขาเข้าใจ เขาก็มา ผมรีครูทได้ คุณอย่าห่วงเลย คุณเอาตังค์มาแล้วสร้างช่องไปกับผม (หัวเราะ)

GM: ก็เห็นเมื่อกี้อาจารย์บ่นๆ ว่าเขียนบทความสักชิ้น ต้องใช้ความรู้ ใช้การค้นคว้ามากมาย แต่ได้เงินแค่ไม่กี่ตังค์

ดร. สมเกียรติ : คือบังเอิญผมอยู่ในวัฒนธรรมแบบนี้ ผมไม่ได้คิดว่าจะต้องได้เงินเท่าไหร่  และโดยส่วนตัว ผมทำงานที่ไหนๆ ก็ไม่เคยบอกเขาว่าผมต้องการเงินเดือนเท่าไหร่ อันนี้เป็นชีวิตปกติของผมเลย คือผมอายเขา เพราะฉะนั้น

ใครจะจ้างผม ผมบอกก็แล้วแต่ ขอให้ผมได้ทำสิ่งนี้ๆ นะ ให้ได้งานตรงนี้ ส่วนเรื่องเงิน ถ้าองค์การมั่งคั่งขึ้นมา เขาก็คงจ่ายมาให้เราเอง แต่ถ้าเกิดเขารวยมาก แล้วยังไม่ค่อยให้เรา แบบนี้ก็รู้ว่าเขาเอาเปรียบ เราก็ไม่ทำแล้ว ก็แค่นั้นเอง

เมื่ออาทิตย์ก่อน หนังสือพิมพ์เดลินิวส์เพิ่งบอกเลิกไม่ให้ผมเขียน ผมเขียนมานานมากจนจำไม่ได้ว่ากี่ปี เขียนเรื่องอาเซียน เขาบอกว่าปรับนโยบายใหม่ ของดคอลัมน์ผมนะ ผมก็ไม่ได้ว่าอะไร ไม่เป็นไรครับ เพราะว่าผมก็เหนื่อยเหมือนกัน เขียนยากมากเลย กว่าจะเขียนแต่ละครั้ง บางทีผมต้องอ่านหนังสือ เช็กข้อมูลตรงโน้นตรงนี้ เขียนยาว 2 หน้า บางทีเตรียมข้อมูลครึ่งวัน หรืออย่างการทำรายการวิทยุ ทุกวันนี้ผมออกวิทยุที่ อสมท เขาให้ผมออก 96.5 ทุกวันอังคาร ประมาณสัก 10 นาที ผมจะต้องตื่นแต่เช้าแล้วก็เตรียมตัวประมาณ 2 ชั่วโมง วันก่อนหน้านั้น ผมจะเช็กว่าพรุ่งนี้เราจะพูดเรื่องอะไร เดี๋ยวนี้ ผมมี 100.5 อีกช่องหนึ่ง ทุกวันพุธ พฤหัสฯ ศุกร์ พวกนี้ให้ผมวันละพันทั้งนั้น (หัวเราะ) ผมก็ต้องฟังเขาตั้งแต่ต้น เหลือสิบนาทีสุดท้ายของผม ผมก็รู้ว่าเขาคุยอะไรกันมา แล้วก็ค่อยคุยต่อเนื่องไป เพราะฉะนั้น จ้างผมหนึ่งพันบาท มันเกินคุ้ม

GM: ดูเหมือนว่าวิทยุก็จน หนังสือพิมพ์ก็จน นิตยสารก็จน ทีวีดิจิตอลก็กำลังจะเจ๊ง แล้วตอนนี้เงินมันไปอยู่ที่ไหน

ดร. สมเกียรติ : อยู่ที่สื่อบันเทิง คือไม่ใช่สื่อทั้งหมดเจ๊ง แต่สื่อข่าวสารที่ตั้งใจทำตามหลักวิชาชีพและจรรยาบรรณ ยังมีความหวั่นไหวในความมั่นคง การเมืองก็ไม่เอาด้วย ซึ่งอันนี้เป็นปัญหาอมตะ เพราะฉะนั้น วิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ ยังมั่งคั่งอยู่ แต่คุณต้องไปอยู่สายบันเทิง แม้กระทั่งสายบันเทิงที่ไม่ลงทุนอะไรมากไปกว่าการนั่งจ้อ นั่งพูดหน้าจอ หรือสัมภาษณ์ดาราทะเลาะกัน

ถ้าสืบประวัติการทำข่าวบันเทิงทางโทรทัศน์ คุณจะรู้ว่าผมทำมาก่อน ผมครีเอทช่วงข่าวบันเทิงตั้งแต่ปี 2528 เพราะตอนนั้นไม่มีช่องว่างเหลือให้โฆษณามาลงเพิ่ม ข่าวเราโฆษณาเต็ม เราก็ต้องครีเอทอะไรเติมเข้ามา ข่าวหนึ่งชั่วโมงขยายกลายเป็นสองชั่วโมงครึ่ง เพื่อจะเพิ่มเวลาโฆษณา ผมเริ่มทำข่าวศิลปวัฒนธรรมบันเทิง เป็นข่าวบันเทิงอย่างแท้จริง ที่ ศศิธร ลิ้มศรีมณี เป็นคนแรกที่ทำข่าวบันเทิง ก่อนหน้านั้นไม่มี อาจจะมีรายการบันไดดารา รายการประกวดร้องเพลง รายการบันเทิงมี แต่ข่าวที่เป็นข่าวนักร้อง นักแสดง ข่าวความรัก ข่าวละครใหม่ ยังไม่มี ผมคิดว่าประสบความสำเร็จในฐานะคอลัมน์ข่าวบันเทิง

ซึ่งจริงๆ แล้วมันก็ตรงตามตำราสื่อสารมวลชนที่อ่านๆ กันมา ว่าทีวีคือความบันเทิง ผมเคยอ่านหนังสือสองสามเล่มเกี่ยวกับเรื่องพับลิคบรอด-แคสต์ที่ล้มเหลว เขาบอกตามหลักแล้ว ทีวีคือเอนเตอร์เทนเมนต์ เพราะฉะนั้นเราทำข่าวต้องให้คนดูบันเทิง ถึงแม้เราไม่ได้ทำข่าวบันเทิง แต่ข่าวที่เราผลิตแต่ละนาทีต้องบันเทิง เพราะว่าทีวีเอนเตอร์เทนเมนต์ Everything on the air must be entertaining. ต่อให้คุณทำข่าวอาชญากรรม คุณก็ต้องตัดต่อให้เพลิน

GM: ดูเหมือนว่าอาจารย์ยังคงมีไฟคุกรุ่นในการทำงานอยู่เลย ที่บอกว่าเกษียณ จริงๆ แล้วคือรอว่าจะมีใครให้ทุนทำอะไรใช่ไหม

ดร. สมเกียรติ : (หัวเราะ) ก็ใช่ นั่นก็เป็นอีกนิสัยที่ไม่ค่อยดีของผม คือผมไม่ออกไปแสวงหางาน ผมจะอยู่เฉยๆ แล้วก็รอคนมาเสนอว่าจะชวนไปทำอะไร เมื่อก่อนอาจจะมีเยอะ แล้วผมก็ต้องคอยปฏิเสธไปเรื่อยๆ เดี๋ยวนี้ไม่มีเลย (หัวเราะ) เดี๋ยวนี้ไม่มีใครมาเสนอให้ผมไปทำอะไร ผมก็มีทางเลือกอยู่สองอย่าง คืออยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไรมันก็เซ็ง หรือในชีวิตบั้นปลาย ถ้าเกิดผมทำโปรเจ็กต์ใหญ่ๆ ผลิตหนังสารคดีชั้นดี ราคาแพงสัก 20-30-50 ล้านบาท ทำแบบให้คนฮือฮา ทำได้นะครับ ผมจะต้องทำโพรโพซัลใหม่ ปัดฝุ่นใหม่ ผมอยากจะผลิตงานสารคดีที่ติดค้างในใจมาเป็นสิบๆ ปี หนึ่ง, ผมทำบทได้ สอง, ผมผลิตได้ เพียงแค่ขอตังค์เท่านั้น แต่ถ้าเป็นงานแบบที่ไปเช่าเวลา แล้วทำรายการกระป๋องกระแป๋ง ถ้าเขาไม่มาวานแล้วผมเกรงใจ ผมก็จะอยู่เฉยๆ ไม่ทำแล้ว เรื่องบริหารสถานีข่าว ผมจะไม่ไปของานใครอีกแล้ว งั้นระหว่างนี้ ถ้ามีนายทุนที่ตกลงจะให้เงินโดยสัญญา แล้วก็มีตัวเลขผมก็จะเริ่มผลิต ซึ่งจะใช้เวลา 2-3 ปี ไม่ได้เสร็จเร็วๆ หรอก

GM: ทำไมอาจารย์ถึงเป็นเหมือนพวกเด็ก Gen Y ที่ลาออกจากงานบ่อยๆ เจองานอะไรที่ไม่ชอบแล้วก็ไม่ยอมทำเลย

ดร. สมเกียรติ : (หัวเราะ) ในวันที่ลาออกจากตำแหน่งงานครั้งหลังสุด ผมงงกับตัวเองมากเลย เซ็งตัวเองสุดขีด เฮ้ย! นี่ลาออก เอาอีกแล้วเหรอ ทำไมเป็นแบบนี้อีกแล้ว แล้วถ้าลาออกบ่อยๆ แบบนี้ ต่อไปคงไม่มีใครกล้ามาจ้างไปทำงานแล้ว จำได้เลยว่าบ่ายวันนั้นยังไม่อยากกลับบ้าน เลยไปนั่งดูหนังคนเดียว ไปดูเรื่อง The Great Gatsby ที่ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ เล่นนั่นแหละ แล้วหนังมันก็ทำออกมาห่วยมากเลย ทำไมห่วยแบบนี้ คือผมอ่านหนังสือแล้วมันดีกว่านี้มาก

GM: เวลามาอยู่ท่ามกลางป่าเขา อาจารย์ไม่ได้อยากที่จะอยู่กับบ้านสงบๆ เพื่อปลูกผักปลูกหญ้า แล้วปล่อยวางเรื่องราวภายนอกหรอกหรือ

ดร. สมเกียรติ : บ้านนี้ผมปลูกพริกและกะเพราไว้เยอะจริงๆ ผัดกะเพราเนื้อคือสิ่งที่ไม่เคยขาดเลยสำหรับบ้านนี้ แต่ถ้าจะให้ปล่อยวางเรื่องราวทุกอย่างแบบที่คุณว่า ผมคงทำไม่ได้หรอก

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ