fbpx

จากยอดข้าวสู่พรายฟอง ชวนละเลียดมองชีวิต กับ พงศ์ภัทร จีรังพิทักษ์กุล

สำหรับ ‘ทักษะการใช้ชีวิต’ นั้น อาจจะกล่าวได้ว่า ไม่มีสูตรที่ตายตัว ในการเข้าถึงปลายทางความเข้าใจของสิ่งต่างๆ บางคนอาจจะบรรลุผ่านเส้นทางศาสนา บางคนอาจจะไขปริศนาด้วยวิทยาศาสตร์ บางคนกระโดดลงคลุกฝุ่นให้เจ็บเนื้อตัว ใช้รอยแผลถลอกเป็นเครื่องบ่งบอกถึงบทเรียนให้จดจำ ต่างคน ก็ต่างกรรมวิธีกันไป เส้นทางที่หลากหลาย ผลลัพธ์ที่แตกต่าง ปลายทางและความเป็นไปได้อันไม่สิ้นสุด

และสำหรับ อั้มพงศ์ภัทร จีรังพิทักษ์กุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท มีคอนซัลติ้งกรุ๊ป จํากัด และผู้บริหารกลุ่มบริษัทในเครือมีกรุ๊ป ผู้คร่ำหวอดในโลกแห่งเครื่องดื่มพรายฟองสีทองแห่ง ‘เบียร์’ รสชาติเยี่ยม การสัมผัสสัจธรรมชีวิตด้วยวงสนทนาตามประสานักดื่มที่มีรสนิยม สะสมให้เกิดเป็น ‘ทักษะ’ ทั้งห้าประการ ที่ GM Live อยากขอเชิญคุณผู้อ่าน ร่วมสัมผัสกันในวรรคถัดจากนี้ไป

ทักษะแรก มิตรภาพ

ยังจำครั้งแรกของการลองดื่มเบียร์กันได้หรือเปล่าครับ สำหรับผมมันเลือนลางมากแล้ว แต่จำได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่เริ่มชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย

จริงๆ กิจกรรมสานสัมพันธ์ในรั้วมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่จะเป็นเครื่องดื่มประเภทเหล้ามากกว่าเบียร์ ซึ่งอาจจะด้วยความที่มีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าหรือทำให้เมาได้เร็วกว่า แต่ในช่วงปีแรกของชีวิตเด็กมหา”ลัย ผมก็ยังโชคดีที่ได้มีโอกาสทดลองดื่มเบียร์บ้าง ในสมัยนั้นมีหลักๆ อยู่แค่ค่ายเดียว เพราะอีกค่ายเขาทำแต่เหล้าสีเหล้าขาวเป็นหลักอยู่

ในความทรงจำลางๆ ผมจำได้ว่าก็พอดื่มได้ ไม่ได้รู้สึกว่ารสชาติของเครื่องดื่มชนิดนี้มันขม แต่ก็ไม่ได้ดื่มมากมายเท่าไหร่ยกเว้นในโอกาสพิเศษ เช่น ไปร่วมงานอะไรบางอย่าง หรือ ช่วงอกหัก ไม่ว่าจะเป็นหักเราเองหรือเพื่อนเราหักก็ตาม ก็ทำให้ดื่มจนเมามายกันได้ทั้งกลุ่มชนิดไม่มีข้อยกเว้น

ช่วงแรกผมคิดว่าเบียร์เป็นเครื่องดื่มที่ดื่มง่าย ไม่มีขั้นตอนพิธีรีตองเยอะ แค่เปิดขวดรินใส่แก้วเติมน้ำแข็งก็ดื่มได้เลย หรือถ้าเป็นเบียร์กระป๋องก็ไม่ต้องการแก้วด้วยซ้ำ พอเริ่มกรึ่มๆกัน หลายๆเรื่องที่ไม่ค่อยอยากเล่าก็พูดกันออกมาง่ายขึ้นเยอะ เบียร์จึงเป็นเครื่องมือสร้างมิตรภาพในเวลาอันรวดเร็วในช่วงชีวิตนั้น

ทักษะที่สอง เติมเต็มช่องว่างระหว่างวัย

แต่ที่จำได้ชัดในความทรงจำคือครั้งแรกที่ขอดื่มเบียร์กับพ่อ ซึ่งจริงๆ ที่บ้านผมก็ไม่ได้ห้ามแต่ผมก็ไม่เคยดื่มต่อหน้าพ่อ-แม่จริงๆซักที วันนั้นเป็นวันที่ออกไปเที่ยวต่างจังหวัดกันทั้งครอบครัว และผมก็เอ่ยปากออกไปว่า “ขอดื่มด้วย” ซึ่งคุณพ่อก็ไม่ได้ติดขัดอะไร ดื่มไปคุยกันไปไม่ได้มีอะไรพิเศษ แต่หลังจากนั้นเวลาที่มีสังสรรค์กันในครอบครัวใหญ่ ก็เป็นเรื่องปกติสำหรับคนที่อยู่ในวัยเข้าเรียนมหาวิทยาลัย จะนั่งดื่มเบียร์ร่วมโต๊ะกับผู้ใหญ่ ผมว่าบางครั้งทำให้คนอีกรุ่นหนึ่งได้ทราบเรื่องในอดีตที่ไม่เคยรู้มาก่อน และนั้นจึงกลายมาเป็นเครื่องดื่มที่เติมเต็มช่องว่างระหว่าง generation ในครอบครัวแบบไม่ทันตั้งตัว

ทักษะที่สาม  การดื่มมาพร้อมความรับผิดชอบ

หลังจากนั้น..ในภาพจำของผมคือตอนที่ไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่อเมริกา มีอยู่ class หนึ่งที่อาจารย์บอกว่า “เราไปดื่มเบียร์ถกความเห็นกันข้างนอกดีกว่า”  พวกเราก็เดินไป café ใกล้ๆ ที่มีโต๊ะใหญ่ๆให้นั่งล้อมวงกัน อาจารย์สั่งเบียร์เป็นแก้วมา หลายๆ คนใน class ก็สั่งเบียร์ด้วย ในขณะที่บางคนก็ดื่มกาแฟหรือช๊อคโกแลตไป ส่วนผมหลังจากหายงงก็สั่งเบียร์ตามกับเขาไปด้วยอีกหนึ่งแก้ว (ซึ่งตอนนั้นยังอ่านชื่อแก้วเบียร์ PINT ไม่ถูกเลย) ผมก็เลยได้เปิดโลกว่า อ้อ!!  ถ้ามีความรับผิดชอบกันมากพอก็ดื่มเบียร์ขณะเรียนได้ด้วยนะ

ต้องเล่าก่อนว่าผมไปเรียนต่อเมืองเล็กๆ ชื่อว่า Berkeley ซึ่งเป็นเมืองที่มีผับเล็กๆ อยู่ในเมืองกว่าสิบแห่ง ถึงจะเล็กแต่ขอบอกเลยว่า แต่ละร้านมีเบียร์สดมากกว่ายี่สิบหัวให้เลือกดื่ม และบางร้านก็ทำเบียร์ของเขาเองด้วย เรียกว่า micro brewery  พออยู่ไปสักพักก็เป็นเหมือนธรรมเนียมปฎิบัติที่จะมีนัดสังสรรค์กันในภาควิชา หรือในกลุ่มนักศึกษาต่างชาติตามโอกาส ซึ่งหลายๆครั้งก็ไปตามผับเล็กๆ เหล่านี้นี่แหละครับ ผมเลยได้เริ่มเรียนรู้ว่าเบียร์ไม่ได้มีแค่ลาเกอร์เหมือนที่บ้านเรานะ ตอนนั้นก็เริ่มสนใจเบียร์ประเภทต่างๆ และได้รู้ว่าการทำเบียร์เองที่บ้านหรือที่เรียกว่า home brew เป็นเรื่องที่ไม่ได้แปลกประหลาดอะไร ซึ่งที่จริงๆ ผมก็ลองศึกษาตำราวิธีทำ home brew ไปบ้าง แต่ติดข้อจำกัดทางด้านอุปกรณ์ สถานที่ และทุนทรัพย์ (ข้อนี้สำคัญสุด) ก็เลยยังไม่ได้ทดลองลงมือทำจริงๆสักที (แต่ถ้าจะมีใครเสนอทุนให้ผมยินดีรับนะครับ) 

ทักษะที่สี่  มิตรภาพและสถาณการณ์เติมเต็มรสชาติ

และในช่วงเข้าสู่วัยทำงาน การดื่มที่ประทับในความทรงจำของผมอีกครั้งหนึ่งคือตอนที่ได้ไป road trip กันในวัย 30 กับเพื่อนสมัยเรียน ตอนนั้นขับรถลงใต้ไปสมุย-พะงัน กัน ตอนที่เอารถขึ้นเรือเฟอร์รี่เพื่อข้ามไปยังเกาะสมุย เป็นช่วงเวลาบ่ายที่อากาศดี ลมเย็นสบาย กำลังยืนข้างเรือดูวิวทะเลอยู่ดีๆ เพื่อนก็ยื่นเครื่องดื่มเย็นๆ มาให้หนึ่งกระป๋อง คงไม่ต้องบอกนะครับว่าคือเครื่องดื่มอะไร  เครื่องดื่มก็เครื่องดื่มเดิมๆ แต่มิตรภาพและสถาณการณ์ทำให้มันเป็นรสชาติการดื่มดีที่สุดครั้งหนึ่งเลยทีเดียว

ทักษะที่ห้า  ทดลอง ทดสอบ เปรียบเทียบ และมีส่วนรวมในความชอบเดียวกัน

และเมื่อเริ่มมีการอิมพอร์ตเบียร์เข้ามาในเมืองไทย และกระแสคราฟเบียร์ก็ตามมาในภายหลัง ทำให้สามารถทดลองดื่มชนิดแปลกๆ จากแท๊ปได้ ตอนนั้นสนุกกับการชิมชนิดใหม่ๆ มาก ประกอบกับเทคโนโลยีนำ 3G เข้ามาสู่มือถือทำให้การหาข้อมูลของต่างๆง่ายขึ้น  เริ่มมีการชิมเพื่อเปรียบเทียบจากการแบ่งประเภทอย่างเป็นสากล เคยขอบาร์เทนเดอร์ชิมแท๊ปต่างๆ ที่เราเคยชิม ได้ทดลองสั่งมาดื่มโดยตั้งเป้าไว้ว่าวันนี้จะสั่งชนิดที่ยังไม่เคยลองเท่านั้น รวมถึงได้ลองหลับตาเลือกชนิดที่หน้าตาแปลกๆ จากในตู้แช่ ถึงแม้ว่าส่วนใหญ่จะไม่ค่อยถูกปากก็ตาม แต่สนุกและที่สำคัญได้มิตรภาพในสังคมหรือเพื่อนร่วมงานที่มีความชื่นชอบในคราฟต์เบียร์เหมือนกัน

ทักษะสุดท้าย know who

ซึ่งถ้าถามผมในวันนี้ว่า….เบียร์ที่ดีที่สุดคือเบียร์อะไร ผมคงตอบว่า คือเบียร์ฟรี จะเป็นที่เราเลี้ยงเพื่อนหรือเพื่อนเลี้ยงเราก็ตามล้วนเป็นการดื่มเกิดจากมิตรภาพเหมือนกัน และมิตรภาพนั้นหลายๆ ครั้งก็ทำให้ได้ know who มาอย่างคาดไม่ถึง

แม้จะปฏิเสธไม่ได้ว่าเบียร์ได้นำพาชีวิตผมไปเจอกับประสบการณ์ดีๆ หลากหลาย แต่ก็เป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่หลายคนมองว่าคือต้นเหตุแห่งปัญหา แต่ถ้าผู้ดื่มมีความรับผิดชอบเพียงพอ ก็จะรู้ว่าการดื่มเครื่องดื่มทุกชนิดต้องใช้ศิลปะในการดื่มไม่ต่างกับการใช้ชีวิต และการดื่มยังสอนทักษะในแต่ละช่วงชีวิตให้เราอีกด้วยครับ

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ