fbpx

ความล้มเหลวของ เรืองรอง รุ่งรัศมี

เรื่อง : วรพจน์ พันธุ์พงศ์

 ไม่ผิดหรอก ถ้าเราจะเรียกสิ่งนี้ว่าความล้มเหลวตั้งใจแล้วทำไม่สำเร็จ มันก็ล้มเหลวนั่นแหละ ไม่ต้องเล่นลิ้น ไม่ต้องหาข้ออ้างข้างๆ คูๆ เรืองรอง รุ่งรัศมี ใช้เวลา 20 กว่าปี อยู่กับพจนานุกรมจีน-ไทย ทุ่มเทความรัก ฝักใฝ่ มุ่งมั่น อยากทำให้ลุล่วง เป้าหมายของเขาอยู่ที่ 1,200 หน้า หรืออาจจะ 1,600 หน้า หรือถ้าเป็นไปได้ มันควรอยู่ที่ 2,000 หน้า
เขาเสียชีวิตวันที่ 31 พฤษภาคม 2020 โดย 4 ปีก่อนหน้านั้นเคยบอกผมว่าทำได้แล้ว 600 กว่าหน้าเดดไลน์กับตัวเองว่าภายในธันวาคม 2017 เขาควรปิดจ็อบนี้ได้โชคร้าย–เท่าที่ผมรู้ จาก 2016 ถึง 2020 มันเป็นระยะเวลา 4 ปีที่เขาป่วยกระเสาะกระแสะ เป็น 4 ปีที่ไม่มีข่าวคืบหน้าว่างานขยับไปถึงไหน ให้เดา–เท่าที่มีข้อมูล พจนานุกรมจีน-ไทย ของ เรืองรอง รุ่งรัศมี น่าจะแท้งไปไม่ถึงเส้นชัย

 “ปี 1997 ผมเริ่มใส่ใจ เข้าใจว่าพจนานุกรมเป็นของมีเสน่ห์ แต่ผมยังไม่เชื่อว่าผมควรจะฝัน” เขาตอบคำถามผมว่า เริ่มสนใจจะทำพจนานุกรมตั้งแต่เมื่อไร “ภาษาจีนพอตัวแล้ว แปลวรรณกรรมได้ แปลบทกวีได้ แต่ผมยังไม่คิดว่าจะทำได้ ผมค่อยๆ แปลหนังสือเพิ่มขึ้น ค่อยใช้พจนานุกรมมากขึ้น ผมเป็นคนไม่เสียดายเงินที่จะซื้อพจนานุกรม และผมชอบซื้อพจนานุกรม แม้ภาษาอังกฤษห่วย ผมซื้อพจนานุกรมจีน-อังกฤษ นอกจากพจนานุกรมจีน-จีน”โดยไม่ตั้งใจสะสม ที่บ้านเขามีพจนานุกรมมากกว่า 50 เล่ม “ผมใช้บ่อย อยู่กับมัน จนเริ่มเห็นข้อเปรียบเทียบ ทำให้วันหนึ่งผมเชื่อว่าเราฝันถึงการทำพจนานุกรมได้นี่หว่า เราต้องกล้าฝันสิ ผมใช้เวลานานมากที่จะบอกตัวเองว่ากล้าฝัน เฮ้ย! ต้องกล้าสิ” ถ้าไม่ลงมือ มันก็เป็นเพียงฝันเพ้อเจ้อ ระหว่างที่กล้าฝัน เขาเริ่มมองหาวิธี “ปี 1997 ฟองสบู่แตก ผมเขียนคอลัมน์ต่อเนื่องมาหลายปี ปีนั้นโดนยุบคอลัมน์ไปเยอะ และผมเริ่มเชื่อได้แล้วว่ากูกล้าฝัน กล้าฝันแล้วอย่าขี้ขลาดสิ กล้าฝันก็ต้องกล้าทำสิ ฟองสบู่แตก จะไปทำอะไรดี ปล่อยเวลาผ่านไปว่างเปล่าหรือ” ไม่ใช่วิสัยหลานชายเขาเรียนอยู่ ม.บูรพา เขาวานให้หลานหาหอพักถูกๆ ให้ และในที่สุดก็ได้ห้องเช่าราคาพันสอง มีระเบียง ยกโต๊ะออกไปนั่งทำงานได้ ทั้งเช้าและเย็น เขามีเวลาเดินเล่นชายหาดทุกวันผมถามเขาว่าไปทำอะไร ที่บางแสน? “พจนานุกรม”

 ไปๆ กลับๆ สลับแวะเวียนมาดื่มสุรากับเพื่อนในกรุงเทพฯ บ้างระยะเวลาราวสามปีที่ทะเล เรืองรองยังทำงานไม่สำเร็จ “ผมได้แฟ้ม ได้งานจำนวนหนึ่ง แฟ้มยังอยู่ ถ้าพยายามทำให้กลายเป็นเงิน ก็ได้ แต่มันไม่ใช่พจนานุกรม เอาสั้นๆ ว่าผมได้เห็นหลายอย่าง และเป็นฐานให้ผมทำงานง่ายขึ้นในวันนี้ เพราะผมพบความผิดพลาด”จากปี 1997 เขาเว้นวรรคไปนานนับสิบปี“เว้นจากการขยับเคลื่อนไหวด้วยมือ แต่สมองผมไม่เคยขยำทิ้ง สมองผมไม่เคยหยุดคิด” เขาสนุกกับการอ่านพจนานุกรม อ่านแบบไล่ตั้งแต่หน้าแรกจนจบเล่ม ยิ่งอ่าน เขายิ่งค้นพบ “ผมอยากรู้หลายๆ เรื่อง สนใจพวกคำหยาบ ชีวิตมันไม่สุภาพหรอก มันมีคำด่า ‘เย็ดแม่’ ‘เหี้ย ห่า’ ทุกภาษา หรือคำจำพวก–หี ควย ทำไมคุณรู้แต่คำเลี่ยง คนจีนไม่ใช้คำตรงหรือ เวลาจะซื้อพจนานุกรม ผมเปิดคำเหล่านี้ก่อนเลย พจนานุกรมที่ดีสำหรับผมต้องกล้ามองสิ่งเหล่านี้ในแง่วิชาการ คำไหนตรงต้องใส่ลงไป “เปิดพจนานุกรมไทย-ไทย ผมจะดูก่อน คำว่า ‘หี ควย เย็ด’ มีไหม ถ้ามี ค่อยไล่ดูคำอื่น ถามว่าทำไมต้องดูคำพวกนี้ เพราะเวลาคุณจะค้นศัพท์บางคำ ถ้าหาพวกนี้ไม่เจอ คุณไม่ต้องค้นหรอก เล่มนั้นน่ะ เพราะคนทำใจไม่กว้างพอที่จะเก็บคำแบบนั้นให้คุณ แล้วผมยังพบอีกว่าบัณฑิตยสภาประเทศอื่นๆ ไม่ได้เป็นมาเฟียทางภาษาเหมือนประเทศไทย” ปกติการทำพจนานุกรมเขาจะทำกันเป็นทีมใช่ไหม–ผมถามเรืองรองเขาตอบว่าโดยอุดมคติเป็นแบบนั้น แต่ทำคนเดียวก็ได้ “สอ เสถบุตร ทำคนเดียว เธียรชัย เอี่ยมวรเมธ ทำคนเดียว นพพร สุวรรณพานิช ทำคนเดียว จิตร ภูมิศักดิ์ ทำคนเดียว และทำในภาวะถูกจองจำ” ผมจุกจิตรทำในภาวะถูกจองจำ แล้วเรากำลังทำอะไร… “ทำไมผมกล้าฝัน และกล้าทำ ผมเห็นบัตรคำ เห็นลายมือตอนเขาทำศัพท์ ผมเห็นสมุดทำการบ้าน เห็นขั้นตอนในข้อจำกัดที่ จิตร ภูมิศักดิ์ อยู่ในเรือนจำ จิตรไม่ได้มีความรู้ภาษาชาวเขามาก่อน เขาเริ่มต้นเรียนภาษาจีน เริ่มต้นทำการบ้าน แล้วเขาเขียนสิ่งเหล่านี้ รวมทั้ง ‘ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาว และขอม’ เล่มใหญ่ๆ ภายใต้ข้อจำกัด “อย่าลืมว่า จิตร ภูมิศักดิ์ อยู่ในห้องขัง เริ่มเรียนภาษาจีนวันที่เท่าไร ไปหาร่องรอย กับวันที่งานชิ้นนั้นสำเร็จ ลองไปหาร่องรอย คุณจะรู้ว่าความยิ่งใหญ่ของจิตร ภูมิศักดิ์ ไม่ได้อยู่เพียงผลงาน แต่อยู่ที่หัวใจดวงนั้น อยู่ที่เหงื่อที่เขาทุ่มลงไป” หัวใจและเหงื่อ คุณมองเห็นหรือเปล่า คุณชื่นชมคนเช่นนี้หรือเปล่า

 ในหนังสือ ‘เดี๋ยวนะ นักฝัน’ ของผม เก็บเรื่องเล่าของ เรืองรอง รุ่งรัศมี ไว้พอสมควร เพราะมีโอกาสสัมภาษณ์ยาวๆ และประเด็นหลักก็ว่าด้วยเรื่องนี้…พูดได้ไหมว่าพจนานุกรมของคุณมีการเมืองแทรกอยู่ด้วย? “มันมีความถูกต้องของภาษาศาสตร์ และภาษาศาสตร์มีบริบทของความรู้ แล้วลงไปเล่นกับคำ มันพาให้เราเห็นว่าภาษาไทยเป็นภาษาวรรณะ จิตสำนึกแบบวรรณะ “ผมเข้าข้างวิธีคิด จอมพล ป. ในเรื่องการเปลี่ยนภาษาไทย ให้มีแค่ I, You, We, They, It แค่นั้น เหมือนฝรั่ง เหมือนภาษาจีน ผมคิดว่ามันมีผลต่อจิตสำนึก” โดยความตั้งใจ โทน หรือเนื้อหา คุณเรียกพจนานุกรมฉบับนี้ว่าอะไร? “พจนานุกรมฉบับพื้นฐาน แต่พื้นฐานของผม คุณควรจะอ่านงานของ ‘คาวาบาตะ’ ได้ คุณควรคันมืออยากอ่านปัญญาปารมิตาหฤทัยสูตร คุณเปิดทีละคำแบบคนไม่รู้เรื่อง จนรู้เรื่อง ผมเรียกว่าพื้นฐานเพราะมันมีวิธีการที่จะเปิดศัพท์แบบซื่อบื้อมาก คุณไม่ต้องใช้ต้นทุนอื่นเลย แค่นับเลขเป็น และคุณกล้าเดา” ไม่เชิงว่าเหมาะกับคนไทยที่สนใจภาษาจีนโดยตรง? “ถ้าผมทำสำเร็จ มันมีประโยชน์ต่อคนที่รู้ภาษาไทยที่ไม่ใช่คนไทย เป็นประโยชน์แรกเลยที่รู้ภาษาจีนกับไทย เป็นประโยชน์ต่อมากับคนที่รู้ภาษาไทยแล้วอยากบาลานซ์ข้อมูล

“มันจะมีประโยชน์กับใคร ผมไม่ซีเรียส สำคัญที่สุดคือมันมีประโยชน์กับผม หลังการทำงาน ผมได้ตรวจสอบตัวเองมากมายถ้าผมอายุน้อยกว่านี้สักยี่สิบปี เมื่อผมทำตัวสุดท้ายเสร็จ องค์ความรู้ในตัวผมมันเปลี่ยน ถ้าอายุห้าสิบต้นๆ ทำเสร็จแล้วผมจะอ่านพจนานุกรมนี้ใหม่อีกครั้ง ผมอยากดูดเมมโมรี่ใส่ฮาร์ดดิสก์ในสมอง สักปีสองปี ผมคิดว่ามันจะเปลี่ยนต้นทุน องค์ความรู้ภาษาศาสตร์ของตัวเองมหาศาล“แต่ความเป็นจริงคือ ผมไม่รู้จะตายเมื่อไหร่…”ระยะหลัง เรืองรองพูดถึงความตายเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังงาน ‘น่านโปเอซี’ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2018 ที่เขาเดินทางมาร่วมงานที่จังหวัดน่าน และล้มป่วยหนัก“ไม่ว่าจะอย่างไร มันถูกแล้วที่ผมทำ ผมอยากบอกผ่านไปถึงคนที่รู้ภาษาอื่นด้วยว่า หาโอกาสทำซะ มันมีประโยชน์กับตัวคุณเอง”

 เขาให้ข้อมูลว่าพจนานุกรมจีน-ไทย มีเกินสิบสำนวน ว่าไปก็มิใช่น้อย แต่เขาอยากทำอีก “เพราะมันมีบางอย่างที่เป็นเส้นมาตรฐานที่ผมอยากทำ พจนานุกรมแต่ละเล่มมีความเด่นบางแบบ แค่เราเลือก เราฝักใฝ่ว่าจะเอาคำแบบนี้มาเก็บไว้ มันเป็นกิเลส เป็นอีโก้ที่อยากเห็น อยากบันทึกศึกษา ผมทำเพื่อสนองตัวเองว่าผมอยากอ่านแบบนี้ ผมเชื่อว่าคนแบบนี้มีทั่วโลก เชื่อเถอะว่าคนสันดานแบบผมไม่ได้มีคนเดียว “ทำให้จริง ทำให้เสร็จ แล้วก็อย่าคิดว่า เฮ้ย! เสร็จแล้วคนเขาจะมานั่งกราบไหว้คุณ ปรบมือให้คุณ คุณแค่ได้ทำงานเสร็จแล้วไง “ความสนใจผมตอนนี้คือภาษาศาสตร์ ผมหลงใหลในภาษาศาสตร์ มันคือผลึกภูมิปัญญา ยิ่งภาษาจีนยิ่งมหัศจรรย์มาก มีศัพท์บางคำที่แสดงคอนเซปต์ แสดงความลึก คือผลึกชีวิต” ผมถามเขาว่า แล้วภาษาไทยไม่ลึกหรอกหรือ? “ภาษาไทยยังไม่ลึก เพราะเป็นชาติที่บันทึกน้อย ทัศนะเราปิด วิชาการด้านนิรุกติศาสตร์ก็รากขาด ยังเป็นศาสตร์ที่ใหม่มาก ส่วนที่ไม่ใหม่ก็มีอยู่ แต่รากขาด แถมเจอคนไม่เปิดใจ”

 ความทุกข์ของคนทำพจนานุกรมคืออะไร “ผมไม่เรียกว่าทุกข์ มันแค่สะดุด เราอาจหงุดหงิดบ้างว่าทำไมเราควรจะรู้ได้ แต่เรายังไปไม่ทะลุ เหมือนติดหล่มและมันคาใจ วิธีแก้คือโยนทิ้งไปก่อน หรือข้ามไปแล้วค่อยย้อนกลับมา มันอาจจะได้ หรือไม่ได้ ต้องยอมทิ้งจริงๆ จนปัญญา กูยอมแพ้มึง เอาไว้ถ้ายังไม่ตาย ถ้าได้ปรับปรุงใหม่และคิดออกค่อยว่ากัน “มีหลายคำมากที่โยนมันทิ้งก่อน คนอื่นเขาไม่รู้หรอกว่าระหว่างทาง คุณหยิบอะไรโยนทิ้งไปบ้าง แต่คุณรู้ อะไรที่คุณคาใจมาก คุณรู้ คุณจำได้ และวันที่คุณเจอ มันเป็นรางวัลของคุณเอง กูเจอแล้ว เพชรเม็ดนี้ กูเจอแล้ว ขนมชิ้นนี้ ได้กินแล้ว “นั่นคือประโยชน์ของคนลงมือทำ คุณมีรางวัล มีความอิ่มทิพย์ ถ้าคุณฝันเพ้อเจ้อ คุณไม่เจอหรอก”

 ให้เดา–เท่าที่รู้จัก เรืองรอง รุ่งรัศมี มานานปี การลงมือทำอะไรสักอย่างแล้วไม่สำเร็จ เป็นเขา เขาก็คงใช้คำว่า ‘ล้มเหลว’ เขาไม่มีนิสัยเล่นลิ้น หรืออ้างโน่นอ้างนี่ แพ้ก็แพ้โง่ก็โง่ จนก็จนให้เดา–เท่าที่รู้จัก ก็อาจมีคำต่อท้ายว่า ‘แล้วไงล่ะ’โด่งดังแล้วไง รวยแล้วไง สำเร็จแล้วไงตั้งใจทำแล้วสำเร็จย่อมเป็นเรื่องดีแน่ๆ แต่โลกมีเลนคู่ขนานเสมอ มีสิ่งที่ผูกพ่วงมาด้วยกัน ซึ่งอยู่ที่ใครจะมองมุมไหน ด้วยทัศนะอย่างไร ซึ่งต่อกรณี ‘พจนานุกรม’ ดังกล่าว เรา–ผู้ยังมีลมหายใจอยู่ ก็ใคร่ครวญกันเอาเองว่าชีวิตจะคิดกันอยู่แค่รวย/จน สำเร็จ/ล้มเหลว หรือควรจะขยับโลกทัศน์ ชีวทัศน์ จัดวาง Perspective ไปสู่มิติอื่นๆ บ้างผมลอก ‘วิธีคิดและวิธีทำ’ ของ เรืองรอง รุ่งรัศมี มาให้อ่านยาวๆโดยทั่วไป คนที่มีการศึกษาและมารยาทดีพอ เขาจะไม่พูดถึงความล้มเหลวของผู้อื่น ผมรู้และจงใจละเว้น ด้วยเพราะผมเห็นเหงื่อและเพชรเม็ดงามในหัวใจของเขาประกาศไว้ตรงนี้เลยว่าผมจะบอกจะเล่าไปทั้งชีวิ

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ