fbpx

การกลับมาของ Vampire Twilight 5 ‘Midnight Sun’ พร้อมส่อง ‘แวมไพร์’ กระจกสะท้อนสังคมมนุษย์

เรื่อง : Softlens

สิ้นสุดการรอคอย (สักที) สำหรับเหล่าสาวกและติ่งนิยายภาคต่อระดับตำนานอย่าง Twilight เพราะล่าสุด   สเตเฟนี เมเยอร์ นักเขียนชาวอเมริกัน เจ้าของผลงานนิยายชุด Twilight ประกาศเป็นทางการแล้วว่าจะตีพิมพ์ Midnight Sun นิยายในจักรวาล Twilight เล่ม 5 ซึ่งเล่าเรื่องราวของนิยายเล่มแรก นั่นคือ Twilight ผ่านมุมของตัวละคร เอ็ดเวิร์ด คัลเลนแวมไพร์หนุ่มตัวเอกของเรื่อง เพราะเนื้อเรื่องของ Twilight ที่ผ่านมาทั้ง 4 เล่ม เป็นการเล่าผ่านสายตาของ เบลล่า สวอน นางเอกของเรื่อง โดยนิยายเล่มนี้มีแผนวางขายวันที่ 4 สิงหาคมปีนี้

สเตเฟนี เมเยอร์ ถือเป็นนักเขียนนิยายที่มีอิทธิพลในการสร้างบริบทใหม่ให้กับตัวละครแวมไพร์ สร้างกระแสฟีเวอร์เป็นพลุแตกจากผลงานนิยายชุด Twilight จำนวน 4 เล่ม ได้แก่ Twilight, New Moon, Eclipse และ Breaking Dawn มียอดขายมากกว่า 100 ล้านก็อปปี้ และได้รับการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ จำนวน 5 เรื่อง ซึ่งทำรายได้ถล่มทลายและสร้างแฟนคลับชนิดเหนียวแน่นไปทั่วโลก

สำหรับนิยายเล่ม 5 ในโลกของ Twilight ชื่อ Midnight Sun นั้น เป็นผลงานที่นักเขียนท่านนี้เขียนไว้นานแล้ว แต่เพราะต้นฉบับดังกล่าวหลุดไปในโลกออนไลน์ถึง 16 บทเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ในช่วงที่ Twilight กำลังฮอตไปทั่วโลก ทำให้เธอตัดสินใจหยุดโปรเจ็คต์การตีพิมพ์ Midnight Sun มาจนถึงเวลานี้ 

ส่วนแฟนหนังคงได้แต่แอบหวังในใจว่า จะมีการสร้างเป็นภาพยนตร์แบบที่ได้ โรเบิร์ต แพททินสัน และคริสเต็น สจ๊วต พระนาง เคมีแรงคู่เดิมมารับบทนำหรือไม่ ซึ่งถ้ามโนแบบนั้นคงต้องภาวนาให้ผู้สร้าง-ผู้กำกับ-นักเขียน รีบๆ ตัดสินใจหน่อย ก่อนที่ริ้วรอยจะมาเยี่ยมเยือนนักแสดงทั้ง 2 จนหน้าวิ่งเกินบท

อย่างไรก็ตามก่อนไปพบกับ เอ็ดเวิร์ด คัลเลน ใน Midnight Sun ขอถือโอกาสนี้ย้อนรอยวิวัฒนาการภาพลักษณ์ของเผ่าพันธุ์แวมไพร์สักหน่อย กว่าจะเป็นแวมไพร์สุดหล่อ เดินอวดเท่ๆ กันตามถนน และได้รับการยอมรับจากเผ่าพันธุ์มนุษย์นั้น ก่อนนี้โลกภาพยนตร์ไม่ได้มองแวมไพร์อย่างเป็นมิตร มาหล่อๆ อย่างที่เอ็ดเวิร์ดหรอกนะจ๊ะบอกให้

ถ้ามองให้ดี แม้แวมไพร์แบบ เอ็ดเวิร์ด คัลเลน จะเป็นตัวละครปิดบังตัวตนความเป็นแวมไพร์เฉกเช่นเดียวกับตัวละครแวมไพร์ตัวอื่นๆ ที่ผ่านมา แต่ความต่าง คือ เขาพยายามปรับตัวให้กลมกลืนและเป็นมิตรกับสังคมมนุษย์ กินเลือดสัตว์ มีครอบครัว (ครอบครัวที่เกิดจากแวมไพร์รักสงบมารวมตัวกัน) 

ที่สำคัญความทรงเสน่ห์ฮอตปรอทแตก จนเพื่อนๆ มนุษย์ในโรงเรียนอยากเป็นคู่จิ้นกับเขา (โดยไม่รู้ว่าเขาเป็นแวมไพร์) ถือว่าเอ็ดเวิร์ดเป็นแวมไพร์ที่มีความสุขพอสมควร เมื่อเทียบกับแวมไพร์ยุคก่อน ที่มักฉายรังสีความสยอง ถูกตีตราว่าเป็นปีศาจ ทรมานจากความกระหายเลือด ซ่อนตัวจากมนุษย์ และอมโศกจากการสูญเสียผู้เป็นที่รัก เพราะตัวเองเป็นอมตะ

หากมองย้อนไปในโลกภาพยนตร์และนวนิยาย ภาพลักษณ์ของ ‘แวมไพร์’ ถูกถ่ายทอดและตีความแตกต่างกันไปตามยุคสมัย จนอาจกล่าวได้ว่าเป็นเครื่องสะท้อนมิติทางวัฒนธรรมของมนุษย์ได้ดีทางหนึ่ง

ยุคบุกเบิกต้นกำเนิดความสยองฉบับแวมไพร์

เมื่อพูดถึง ‘แวมไพร์’ ภาพแรกที่คนนึกถึง คงไม่พ้นภาพชายสวมเสื้อคลุมสีดำ แต่งกายภูมิฐาน มีเขี้ยวภายใต้ใบหน้าซีดขาวหมดจด วางท่าลึกลับ อาศัยอยู่ในปราสาท รู้จักในชื่อ เคานท์แดร็กคิวล่า

เหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะยุคแรกของภาพยนตร์แวมไพร์ ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ล้วนได้รับกระแสมาจากวรรณกรรมโกธิค จากการหยิบจับวรรณกรรม กวี เรื่องเล่ากึ่งตำนานต่างๆ มานำเสนอเป็นความบันเทิงแบบสยองขวัญ โดย Dracula (1897) ของ บราม สโตกเกอร์ คือวรรณกรรมทรงอิทธิพลที่สุดที่ได้รับความนิยมนำมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์หลายต่อหลายครั้ง จนกล่าวได้ว่าเป็นต้นตำรับแวมไพร์และกลายเป็นแรงบันดาลใจสร้างภาพยนตร์แนวแวมไพร์ รวมถึงภาพยนตร์รีเมคอย่าง Bram Stoker’s Dracula (1992) นำแสดงโดยแกรี โอลด์แมน, วิโนนา ไรเดอร์, คีอานู รีฟส์ ซึ่งเป็นเป็นภาพยนตร์แวมไพร์น่าจดจำที่สุดเรื่องหนึ่งและส่งอิทธิพลมาถึงคนยุคนี้

เสน่ห์ที่ทำให้ตัวละครแวมไพร์ กลายเป็นที่รักและจดจำตราบจนวันนี้ อยู่ที่รูปลักษณ์คล้ายมนุษย์ จุดนี้จึงเป็นการเปิดโอกาสให้เหล่านักประพันธ์หรือผู้สร้างสามารถเติมเต็มจินตนาการได้มากมาย ในการสร้างตัวละครมายาสอดแทรกควบคู่ไปกับโลกแห่งความจริงไม่ว่าจะด้วยรูปแบบใด  

จนมาถึงการปรากฏตัวของภาพยนตร์เงียบสัญชาติเยอรมัน Nosferatu (1922) ที่มีการเปลี่ยน ภาพลักษณ์แวมไพร์ให้เป็นชายหลังค่อม หัวล้าน มีกรงเล็บ หน้าตาอัปลักษณ์ ต่างจากเคานท์แดร็กคิวล่าตามบทประพันธ์ของ บราม สโตกเกอร์ ส่วนหนึ่งที่เป็นเช่นนั้น เป็นผลมาจากความเกลียดชังชาวยิวที่ขยายตัวในวัฒนธรรมเยอรมัน จึงเกิดการสร้างแวมไพร์ที่น่าเกลียด มาเป็นตัวแทนสะท้อนถึงชาวยิว https://www.youtube.com/embed/ZxlJxDr26mM?feature=oembed

แต่เมื่อวัฒนธรรมแวมไพร์ข้ามมายังฝั่งฮอลลีวู้ด แวมไพร์กลับถูกตีความต่างไป โดยหลังจากการสร้าง Dracula (1931 กำกับโดย Tod Browning) โดยนำตัวเอกเคานท์แดร็กคิวล่า มาปัดฝุ่นอีกครั้งในมาดผู้ดี มีฐานะ การดีไซน์และบทบาทการแสดงในครั้งนั้น ส่งให้ภาพยนตร์ Dracula (1931) เวอร์ชั่นนี้ กลายเป็นแวมไพร์ที่มีชื่อเสียงที่สุดในประวัติศาสตร์และเป็นภาพจำของแวมไพร์ยุคต่อๆ มา

อย่างที่รู้กัน อเมริกาอันเป็นจุดกำเนิดฮอลลีวู้ดยุคนั้น คือ ดินแดนแห่งเสรีภาพ เกิดการขยายตัวของชนชั้นกลาง นักวิชาการจึงตั้งข้อสังเกตว่า แวมไพร์ในภาพยนตร์ Dracula (1931) เป็นตัวแทนของชนชั้นกลาง โดยดูจากการแต่งกาย ฐานะทางสังคมของเคานท์แดร็กคิวล่าที่มีการบริหารการเงินและซื้ออสังหาริมทรัพย์เป็นของตัวเอง อีกทั้งซ่อนนัยยะของอเมริกาที่ตีตัวออกห่างและไม่ต้องการอยู่ใต้อิทธิพลของยุโรปhttps://www.youtube.com/embed/b0DmiynhkWU?feature=oembed

นอกจากนี้ในเชิงศาสนา แวมไพร์ยังเป็นตัวละครที่มีลักษณะต่อต้านศีลธรรม ด้วยสถานะเป็นอมตะ ซึ่งตามความเชื่อของศาสนาคริสต์ เมื่อพวกเขาไม่มีวันตายจึงไม่ได้รับการตัดสินจากพระเจ้าในวันสิ้นโลก จึงกลายเป็นขัดต่อคำสอนของพระเจ้า ทำให้แวมไพร์กลายเป็นตัวแทนของความชั่วร้าย เมื่อถูกตีตราเป็นวายร้าย หลายครั้งแวมไพร์จึงถูกใช้เป็นตัวแทนของลัทธินาซี, คอมมิวนิสต์ หรือแม้แต่คนหัวกบฏ กลุ่มรักร่วมเพศ คนชายขอบ หรือคนกลุ่มเล็กๆ ที่สังคมมองข้าม

ด้วยเหตุผลที่เป็นตัวแทนต่อต้านศาสนา ภาพลักษณ์ของแวมไพร์ส่วนใหญ่จึงเต็มไปด้วยแรงปรารถนา ซึ่งเป็นอารมณ์ที่ขัดแย้งกับศีลธรรมที่ดีงาม ผ่านรูปลักษณ์งดงามที่ใช้เพื่อการล่อลวงชวนหลงใหล ไปถึงการมีหน้าตาน่าเกลียดน่ากลัว ทำให้ดูเป็นปีศาจหรือจอมวายร้าย

การตีความเหล่านี้กลายมาเป็นมรดกที่ตกทอดมายังวัฒนธรรมแวมไพร์ในยุคหลังๆ 

ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุคทดลอง

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ภาพยนตร์แวมไพร์ได้รับการพัฒนา เปิดกว้างให้เกิดการทดลอง และผสมผสานการเล่าเรื่องในรูปแบบใหม่ๆ ของตัวละครแวมไพร์ที่แตกต่างไปจากยุคแรกเริ่ม ไม่ใช่ชายจากยุคโกธิคใส่เสื้อคลุมดำ เช่น แวมไพร์ในภาพยนตร์เพลง, แวมไพร์ในบทเลสเบี้ยน หรือในภาพยนตร์เรื่อง Lost Boy (1987) ที่ใช้มุกหนังแนวแก๊งค์วัยรุ่นมาสร้างเป็นภาพยนตร์แวมไพร์แอคชั่น โดยให้แวมไพร์เป็นกลุ่มวัยรุ่นแฝงตัวในกลุ่มไบค์เกอร์กวนเมือง เป็นต้น

โดยเฉพาะในช่วงทศวรรษที่ 80 เกิดการระบาดของโรคเอดส์ทั่วโลก จากกลุ่มรักร่วมเพศ สังคมมีการต่อสู้เรียกร้องสิทธิความเท่าเทียม เหตุการณ์เหล่านี้สะท้อนผ่านตัวละครแวมไพร์เช่นกัน ในภาพยนตร์เรื่อง Interview with the Vampire (1994) นำแสดงโดยซูเปอร์สตาร์สุดหล่อแห่งยุคอย่าง ทอม ครูซ และ แบรด พิตต์ ที่มีเรื่องราวเปรียบเทียบการดิ้นรนของชนชั้นกลาง ความแปลกแยก รักร่วมเพศ และความเหงา โดยเฉพาะการเผยให้เห็นความเป็นปัจเจกของแวมไพร์ผ่านบทของหลุยส์ แสดงโดย แบรด พิตต์ ที่มีความรู้สึกผิดเมื่อต้องคร่าชีวิตมนุษย์เพื่อดื่มเลือด หรือบทของแวมไพร์เลสแทด แสดงโดย ทอม ครูซ ที่วางแผนทำเด็กสาวอายุ 5 ขวบเป็นแวมไพร์ มาเลี้ยงเป็นลูกของหลุยส์ เพื่อเติมเต็มความเหงาในใจของหลุยส์ https://www.youtube.com/embed/sCmYN6TLd8A?feature=oembed

ยุคนี้ถือเป็นช่วงที่ผู้ชมได้เห็นแวมไพร์ในมิติที่ลึกซึ้ง หลากหลายขึ้น ไม่ใช่แค่เป็นผู้ล่า หรือต้องการแค่ดูดเลือดของเหยื่อ แต่มีความเป็นปัจเจกมากขึ้น มีเป้าหมายเป็นของตัวเอง ดูเป็นมนุษย์มากขึ้น สะท้อนให้เห็นสภาพสังคมยุค 80 ที่สังคมมีความเปิดกว้าง และมีอิสระในการแสดงความคิดมากขึ้น

หลังเหตุการณ์ 9/11  

หลังเกิดเหตุการณ์ 9/11 ที่สั่นคลอนคนทั้งโลก สังคมอเมริกันเกิดความกลัวรูปแบบใหม่ นั่นคือ ความหวาดระแวงกันและกัน การปรากฏตัวของแวมไพร์จึงเป็นการผสมผสานไปกับชีวิตธรรมดาของมนุษย์ เสมือนเป็นผู้แฝงตัวอยู่ในกลุ่มมนุษย์ แต่ถึงแม้ว่าจะกลมกลืมไปกับมนุษย์ แต่ก็ยังแฝงอํานาจในการทําลายเหนือมนุษย์ ขณะเดียวกันแวมไพร์บางคนก็มีความเปราะบางทางอารมณ์ มีชีวิตจิตใจ เรียกว่าสถานะของแวมไพร์ ไม่ยึดฝ่ายว่าต้อง ‘ดี’ หรือ ‘ร้าย’ เสมอไป เฉกเช่นเดียวกับมนุษย์ที่ไม่ได้แยกดีชั่วตายตัว 

ซึ่งภาพยนตร์ Twilight (2008) และ Let Me In (2010) จึงเป็นหนังที่สื่อแนวคิดนี้ได้ดี โดยใน Twilight แวมไพร์ยังมีการนำเสนอระบบชนชั้น ราชวงศ์ มีการดําเนินชีวิตซับซ้อนระหว่างมนุษย์ แวมไพร์ และเผ่าพันธุ์อื่นๆ อีกด้วย เสมือนเป็นการเปรียบเทียบระบบการเมืองการปกครองของสังคมมนุษย์https://www.youtube.com/embed/x3guLR8aBpU?feature=oembed

การสร้างวัฒนธรรมแวมไพร์ในมิติใหม่เหล่านี้ ยังแตกการเล่าเรื่องและต่อยอดไปสู่การสร้างภาพยนตร์โทรทัศน์แวมไพร์ ฟีเวอร์ อย่าง True Blood (2008-2013) และ Vanapire Diaries (2009-2013) ซึ่งทั้งสองเรื่องมีการสร้างมิติตัวละครแวมไพร์และระบบการปกครองแวมไพร์อย่างเป็นรูปธรรม

มาถึงจุดนี้ คงพอวาดภาพออกแล้วว่า กว่าตัวละคร เอ็ดเวิร์ด คัลเลน พระเอกแวมไพร์จาก Twilight จะกลายมาเป็นเทพบุตรสุดหล่อ ที่ได้รับการยอมรับและเสียงกรี๊ดกร๊าดจากมนุษย์สาวๆ นั้น เส้นทางของแวมไพร์ต้องผ่านอะไรกันมาบ้าง 

อ้างอิงข้อมูล : 

www.theguardian.com/books/2020/may/04/stephenie-meyer-twilight-sequel-midnight-sun?fbclid=IwAR3HWo2hZH0jkoyEVXqp2qWbdAmfy8EsMTBl8OOfavFt6msxEReFhamjxKQ

https://movieweb.com/midnight-sun-twilight-book-stephenie-meyer/

วิทยานิพนธ์เรื่อง การเปลี่ยนแปลงของรูปแบบในภาพยนตร์แวมไพร์ (ค.ศ.1992 – 2012) ของสาโรจน์ คุณาธเนศ วิทยานิพนธ์ของการศึกษาตามหลักสูตรปริญญานิเทศศาสตรมหาบณ สาขาวิชาการภาพยนตร์ ภาควิชาการภาพยนตร์และภาพนิ่ง คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2555

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ